การขนส่งในประเทศไทย

การขนส่งในประเทศไทย มีความหลากหลายและยังไม่มีความเป็นระเบียบ การขนส่งแต่ละประเภทไม่มีความโดดเด่นมากนัก ได้แก่ ระบบการขนส่งทางถนน ที่เป็นหลักของการขนส่งสินค้าทั่วประเทศ การขนส่งทางรถประจำทางที่มีการขนส่งระยะไกลไปยังจังหวัดต่าง ๆ มีการใช้รถจักรยานยนต์เพื่อใช้การเดินทางระยะสั้นแทนการใช้จักรยาน การใช้รถยนต์ส่วนตัวซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมีส่วนทำให้การจราจรเกิดความแออัดทั้งในกรุงเทพมหานครและเมืองสำคัญต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีการขนส่งระบบรางที่เชื่อมต่อไปยังภูมิภาคต่าง ๆ แต่ยังมีความล่าช้า ถึงแม้จะมีแผนขยายการให้บริการที่มีรถไฟความเร็วสูงไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศก็ตาม การขนส่งทางอากาศภายในประเทศ ซึ่งในปัจจุบันยังมีสายการบินไม่มากนัก แต่ยังมีความโดนเด่นด้วยวิธีการขนส่งที่มีความแปลกใหม่จากสายตาของชาวต่างประเทศ เช่น รถตุ๊กตุ๊ก รถสองแถว เป็นต้น ทั้งนี้ สถาบันการจัดการนานาชาติ (International Institute for Management Development: IMD) ได้จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 28 จาก 64 เขตเศรษฐกิจ[1]

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หลักกิโลเมตรที่ 0
การจราจรแออัดในชั่วโมงเร่งด่วนในกรุงเทพมหานคร
รถสามล้อหรือรถตุ๊กตุ๊ก รูปแบบการขนส่งอย่างหนึ่ง

ระบบราง

รถไฟทางไกล

 
สถานีรถไฟกรุงเทพ
 
ขบวนรถไฟสายแม่กลอง

การรถไฟแห่งประเทศไทยเปิดให้บริการเดินรถในความยาวเส้นทางทั้งสิ้น 4,507 กิโลเมตร จำนวน 666 สถานี/ที่หยุดรถ ในรางขนาด 1 เมตร (เป็นทางเดี่ยว 4,097 กิโลเมตร ทางคู่ 303 กิโลเมตร และทางสาม 107 กิโลเมตร)

รายชื่อจังหวัดที่มีทางรถไฟทางไกล
การเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านในปัจจุบัน

รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน

กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองเดียวที่มีระบบรถไฟฟ้า ซึ่งประกอบด้วย 3 ระบบ คือ รถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้ามหานคร และรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในอนาคต อาจมีความยาวเกือบ 400 กิโลเมตร ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล นอกจากนี้ ยังมีโครงรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนตามหัวเมืองในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ที่ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการศึกษาและออกแบบโครงการ

รายชื่อจังหวัดที่มีทางรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน

รถไฟฟ้าบีทีเอส

 
รถไฟฟ้าบีทีเอส

ชื่อทางการคือ รถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา ดำเนินการโดย บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี (BTSC) และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ เคที (KT) เริ่มเปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 เปิดบริการตั้งแต่เวลา 6 นาฬิกาถึง 24 นาฬิกา

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ในโอกาสที่เปิดบริการมาครบ 9 ปี ปรากฏว่า มียอดมีผู้ใช้บริการตั้งแต่เปิดให้บริการ 972,034,298 เที่ยว มีผู้โดยสารใช้บริการรถไฟฟ้าเฉลี่ยวันทำการ 424,369 เที่ยวต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 2.6 โดยในปี พ.ศ. 2551 นี้มีผู้ใช้บริการสูงสุดเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2551 จำนวน 497,390 เที่ยว [2] และในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 มี​ผู้โดยสาร​ใช้​บริการ​รถไฟ​ฟ้า​เฉลี่ย​ใน​วัน​ทำ​การ​สร้าง​สถิติ​ใหม่​สูง​สุด​เท่ากับ 509,106 เที่ยว​ต่อคน [3]

และผลดำเนินงานบริการรถไฟฟ้าบีทีเอสในรอบบัญชีเดือนเมษายน พ.ศ. 2554 ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2555 มียอดผู้ใช้บริการทั้งสิ้น 176,028,556 เที่ยวคน เพิ่มขึ้นจากงวดปีที่ผ่านมาร้อยละ 21.24 และเมื่อพิจารณาจากผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวันภาพรวมปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 18.26 เป็น 480,952 เที่ยวคน ซึ่งวันที่ 30 มีนาคม 2555 นับว่าเป็นวันที่ทุบสถิติสูงที่สุดนับตั้งแต่เปิดให้บริการมา มีผู้มาใช้บริการถึง 714,575 เที่ยวคน[4]

ในวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2560 สถานีสำโรงได้เปิดใช้บริการและเป็นวันที่ รถไฟฟ้าบีทีเอส ให้บริการผู้โดยสารเชื่อมต่อระหว่าง กรุงเทพมหานคร และ จังหวัดสมุทรปราการ เป็นวันแรก ปัจจุบันให้บริการครอบคลุม 3 จังหวัดคือ จังหวัดปทุมธานี กรุงเทพมหานคร และจังหวัดสมุทรปราการ ระยะทางรวม 68.25 กิโลเมตร จำนวน 60 สถานี

รถไฟฟ้ามหานคร

 
รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล

รถไฟฟ้ามหานครที่เปิดให้บริการแล้วในปัจจุบันได้แก่ รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ดำเนินการโดยบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) โดยได้รับสัมปทานจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2542 (ค.ศ. 1999) และหลังจากที่เกิดความล่าช้าขึ้นหลายครั้ง ในที่สุดได้เปิดให้สาธารณชนทดลองใช้งานในวงจำกัดเมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2547 (ค.ศ. 2004) และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 กรกฎาคม ปีเดียวกัน ปัจจุบันให้บริการครอบคลุม 2 จังหวัดคือ กรุงเทพมหานคร และจังหวัดนนทบุรี ระยะทางรวม 70.6 กิโลเมตร จำนวน 53 สถานี

รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยาน

 
รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

เป็นส่วนหนึ่งในโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าในระบบรถไฟฟ้าชานเมือง โดยรัฐบาลได้นำโครงการนี้มาเป็นโครงการเร่งด่วนและแยกการก่อสร้างต่างหากจากระบบรถไฟฟ้าชานเมือง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ดำเนินการก่อสร้างโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์โดย บริษัท รถไฟฟ้า รฟท. จำกัด

สำหรับยอดผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์เต็มรูปแบบวันแรกเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2553 มีผู้โดยสารใช้บริการในระบบซิตี้ไลน์ 26,149 คน จากเป้าที่ตั้งไว้ 15,000 คน ส่วนรถด่วนมีผู้ใช้บริการ 633 คน ทั้งนี้คาดว่าสิ้นปีนี้จะมีผู้ใช้บริการประมาณ 5-7 หมื่นคน[5]

รถไฟฟ้าที่ใช้ในโครงการทั้งหมดเป็นรถไฟฟ้าประเภทความเร็วสูง ซึ่งมีความเร็วปกติอยู่ที่ 160-200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่มีความเร็วขณะเข้าประแจที่ 40-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และมีความเร็วขณะเข้าประแจลงศูนย์ซ่อมบำรุงที่ย่านคลองตันที่ 125 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ปัจจุบันให้บริการครอบคลุม 2 จังหวัดคือ กรุงเทพมหานคร และจังหวัดสมุทรปราการ ระยะทางรวม 28.6 กิโลเมตร จำนวน 8 สถานี

รถไฟฟ้าชานเมือง

 
รถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดงเข้ม

เป็นระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลตลอดจนพื้นที่ต่อเนื่องคือ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดราชบุรี ดำเนินการโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่อเนื่อง มีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับคุณภาพในการให้บริการของรถไฟชานเมืองซึ่งทำหน้าที่ในการบริการขนส่งผู้โดยสารที่อยู่อาศัยในพื้นที่ชานเมืองตลอดจนพื้นที่ต่อเนื่องสามารถเข้าสู่ใจกลางกรุงเทพมหานครได้อย่างรวดเร็วด้วยระบบรางที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และยังเป็นการป้อนผู้โดยสารเข้าสู่โครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนอื่นในเขตกรุงเทพมหานครอันได้แก่ รถไฟฟ้ามหานคร ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รถไฟฟ้าบีทีเอส ของ กรุงเทพมหานคร (กทม.) หรือแม้กระทั่งรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ปัจจุบันมี 2 สาย ระยะทางรวม 37.6 กิโลเมตร จำนวน 13 สถานี

รถราง

 
รถรางกรุงเทพ
รายชื่อจังหวัดที่เคยมีทางรถราง

ในอดีตประเทศไทยก็เคยมีการใช้รถราง โดยรถรางกรุงเทพเปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2431 โดยเปิดสายบางคอแหลมเป็นสายแรกเมื่อเริ่มแรกใช้กำลังม้าลากรถไปตามราง ทำให้ใช้เวลาการเดินทางมาก จึงไม่เป็นที่นิยม ภายหลังเปลี่ยนมาใช้กำลังไฟฟ้าเมื่อ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2437 และจนถึงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2511 ได้ยกเลิกการเดินรถทุกเส้นทางอย่างถาวร

ส่วนเส้นทางในต่างจังหวัดมีสองสายคือ รถรางลพบุรี และทางรถไฟสายปากน้ำ ที่ใช้รถรางวิ่งแทนรถไฟตั้งแต่ พ.ศ. 2468

ระบบถนน

โครงข่ายถนน

ตรอกและซอย

 
ทางแยกต่างระดับมักกะสัน

ตรอก เป็นประเภทของถนนที่มีขนาดเล็กที่สุด ซึ่งบางครั้งยานพาหนะขนาดใหญ่อย่างรถยนต์ไม่สามารถเข้าถึงได้ มักจะพบการขนส่งโดยใช้วิธีเดินเท้า จักรยาน หรือรถจักรยานยนต์ ส่วนมากแล้วจะอยู่ในเขตเมือง ส่วนซอย จะเป็นถนนที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาระดับหนึ่ง บางแห่งรถยนต์สามารถเข้าได้ แต่ไม่สามารถวิ่งสวนทางกันได้ จึงมีการจัดการจราจรให้เดินรถทางเดียว หรือบางแห่งเป็นซอยที่มีขนาดใหญ่เทียบเท่าถนน สำหรับชื่อของซอย มักจะตั้งชื่อตามถนนที่ซอยนั้นแยกออกมา เช่น ซอยสุขุมวิท 55 หรือ ถนนทองหล่อ เป็นซอยที่แยกออกมาจากถนนสุขุมวิท เป็นต้น

ถนน

 
ถนนข้าวสาร

ถนนมีทั้งถนนในเมืองและถนนที่เชื่อมต่อระหว่างจังหวัด ถนนบำรุงรักษาโดยหน่วยงานท้องถิ่น หรือถนนในเมืองบางแห่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายทางหลวง ซึ่งจะมีการกำกับรหัสหมายเลขทางหลวงนั้น ๆ ในจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นจังหวัดที่มีการลงทุนในเรื่องโครงข่ายถนนในเมืองและในจังหวัดเป็นเงินจำนวนมาก

ทางหลวง

ทางหลวงในประเทศไทยมีหลายประเภท ได้แก่ ทางหลวงพิเศษ ทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงชนบท ทางหลวงท้องถิ่น ทางหลวงสัมปทาน ระบบทางหลวงในประเทศไทยมีความยาวรวม 64,600 กิโลเมตร ลาดยางแล้ว 62,985 กิโลเมตร และยังไม่ได้ลาดยาง 1,615 กิโลเมตร (ข้อมูลปี พ.ศ. 2539) ทางหลวงแผ่นดินสายหลักในประเทศไทย ได้แก่ ถนนพหลโยธิน ถนนมิตรภาพ ถนนสุขุมวิท และถนนเพชรเกษม ทางหลวงบางแห่งได้รับการกำหนดให้เป็นทางหลวงสายเอเชีย นอกจากนี้ยังมีทางหลวงพิเศษ ซึ่งเป็นทางหลวงประเภทหนึ่ง แต่มีการควบคุมการเข้าออก และเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

ทางหลวงพิเศษและทางพิเศษ

ทางพิเศษเป็นถนนที่มีการควบคุมการเข้าออก และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาจราจรติดขัดในเขตเมืองสำคัญต่าง ๆ แต่ได้ดำเนินการก่อสร้างเฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเท่านั้น ส่วนทางพิเศษในเมืองสำคัญต่าง ๆ ยังเป็นโครงการและยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้าง ส่วนทางหลวงพิเศษเป็นโครงข่ายทางหลวงที่เชื่อมโยงระหว่างเมืองในภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งในปัจจุบันมีทางหลวงพิเศษเพียง 2 สาย ได้แก่ ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และถนนกาญจนาภิเษก

การขนส่งผู้โดยสารทางถนน

รถประจำทาง

รถโดยสารระหว่างจังหวัด
 
สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร)

รถโดยสารระหว่างจังหวัดให้บริการโดย บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และบริษัทเอกชนอีกหลายบริษัท โดยมีสถานีรถโดยสารในกรุงเทพมหานคร สามแห่ง คือ หมอชิต2 สถานีขนส่งสายใต้ และสถานีขนส่งเอกมัย

รถโดยสารระหว่างประเทศ

บขส. ได้เปิดการเดินรถไปยังประเทศลาว และประเทศกัมพูชา นอกจากนี้ยังมีบริษัทเดินรถอีกหลายแห่งที่เปิดเส้นทางระหว่างประเทศ

รถโดยสารประจำทาง
 
รถโดยสารประจำทางในกรุงเทพมหานคร

รถประจำทางเป็นระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่อย่างหนึ่งในไทย โดยเฉพาะในเมืองใหญ่เช่นกรุงเทพมหานคร ระบบรถเมล์ประจำทางให้บริการโดย องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก) ถือเป็นระบบที่ขนส่งผู้โดยสารระบบหนึ่ง และยังมีอีกหลายจังหวัดที่มีรถโดยสารประจำทาง

รถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ

ประจำทางด่วนพิเศษบริการเฉพาะกรุงเทพและปริมณฑลได้แก่ รถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลและรถ ปรับอากาศพิเศษ (ปอ.พ)บริการในกรุงเทพมหานครของ บริษัท พรีเมียร์ เมโทรบัส[6]

รถโดยสารเข้าเมือง

เป็นรถโดยสารที่ขนส่งผู้โดยสารจากท่าอากาศยานเข้ามาในเขตเมือง

รถประจำทางประเภทอื่น

ประเทศไทยยังมีรถประจำทางอีกจำนวนมากที่ให้บริการ เช่น สองแถว กระป้อ เป็นต้น

รถวิ่งชมเมือง

กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองเดียวที่มีรถวิ่งชมเมืองบริการนักท่องเที่ยว ซึ่งประกอบด้วย 2 เส้นทางคือ รถรางสายรอบกรุงรัตนโกสินทร์[7] และรถรางเยาวราช[8](ปิดบริการชั่วคราว)

รถรับจ้าง

 
รถแท็กซี่

รถรับจ้างมีหลายประเภท เช่น รถแท็กซี่ ระบบมิเตอร์บริการในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล นครราชสีมา อุดรธานี ขอนแก่น ชลบุรี ภูเก็ต หาดใหญ่ นครศรีธรรมราช อุบลราชธานี และเชียงใหม่ รวมทั้งมอเตอร์ไซค์รับจ้างตามหน้าปากซอยและสถานที่สำคัญ ตุ๊กตุ๊กและรถสามล้อ มีให้บริการเช่นกัน

อุบัติเหตุทางถนน

ทางอากาศ

 
ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
 
ท่าอากาศยานดอนเมืองจากมุมสูง
 
ท่าอากาศยานหาดใหญ่
 
โบอิง 747-400 ของการบินไทย

ท่าอากาศยาน

ท่าอากาศยาน มีจำนวนทั้งสิ้น 106 แห่ง (ข้อมูลปี พ.ศ. 2542) ท่าอากาศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและรองรับผู้โดยสารได้มากที่สุดในประเทศไทย คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นอกจากนี้ ยังมีท่าเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 17 แห่ง (ข้อมูลปี พ.ศ. 2550)

จำนวนท่าอากาศยานในประเทศไทย จำแนกตามสภาพและความยาวของทางวิ่ง
สภาพ ความยาว (เมตร) รวม
ยาวกว่า 3,047 2,438-3,047 1,524-2,437 914-1,523 สั้นกว่า 914
ลาดยาง 6 แห่ง 11 แห่ง 17 แห่ง 18 แห่ง 4 แห่ง 56 แห่ง
ไม่ได้ลาดยาง 1 แห่ง 16 แห่ง 33 แห่ง 50 แห่ง
รวมทั้งสิ้น 106 แห่ง

ท่าอากาศยานนานาชาติ

ในปี พ.ศ. 2561 ท่าอากาศยานที่รับผู้โดยสารจากต่างประเทศมายังประเทศไทยมีทั้งหมด 11 ท่าอากาศยาน โดย ท่าอากาศยานหัวหินเป็นท่าอากาศยานล่าสุดที่ให้บริการใน เส้นทางระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย โดยท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี และท่าอากาศยานนานาชาติอุบลราชธานี ยกเลิกการรับผู้โดยสารจากต่างประเทศในปีดังกล่าว ต่อไปนี้เป็นรายชื่อท่าอากาศยานที่การบินระหว่างประเทศในปี พ.ศ. 2561

ท่าอากาศยานในประเทศไทยที่สามารถรับเครื่องบิน ขนาดใหญ่ชนิด โบอิง 747 มีเพียง 6 ท่าอากาศยานโดยทั้งหมด การบินไทย เครื่องทำการบินทางพาณิชย์ ได้แก่

ท่าอากาศยานที่สามารถรับเครื่องบินขนาดใหญ่ แอร์บัส เอ380 มีเพียง 4 ท่าอากาศยาน แต่ให้บริการเชิงพาณิชย์ที่เดียวคือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

สายการบิน

ในประเทศไทยมีสายการบินจำนวนมาก โดยมีการบินไทยเป็นสายการบินที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติ

การขนส่งทางน้ำ

 
เรือด่วนเจ้าพระยา
 
เรือโดยสารคลองแสนแสบ

เส้นทางน้ำสายสำคัญ 3,999 กม. 3,701 กม. เป็นเส้นทางที่มีน้ำลึกไม่ต่ำกว่า 0.9 เมตรตลอดทั้งปี นอกจากนี้ยังมีเส้นทางเล็กๆ อีกจำนวนมาก ที่ใช้เรือขนาดเล็กเช่นเรือหางยาวในการเดินเรือ

การขนส่งในแม่น้ำลำคลอง

มีเรือโดยสารให้บริการในแม่น้ำเส้นทางต่าง ๆ จำนวนมากมายหลายบริษัท เช่น เรือด่วนเจ้าพระยา หรือเรือหางยาว เรือข้ามฟาก ส่วนเรือโดยสารในคลอง เช่น เรือโดยสารคลองแสนแสบ ให้บริการในคลองแสนแสบ ซึ่งสามารถเดินทางได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย

ท่าเรือและเมืองท่า

 
ท่าเรือกรุงเทพ

ปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเรือเดียวที่มีผู้โดยสารเดินทางไปกลับจากท่าเรือแหลมฉบังไปยังประเทศสิงคโปร์ และประเทศสิงคโปร์มายังท่าเรือแหลมฉบัง

เรือเดินสมุทร

เรือเดินสมุทรมีทั้งหมด 299 ลำ (ขนาดใหญ่เกิน 1,000 ตันกรอส) หรือคิดเป็นขนาด 1,834,809 ตันกรอส หรือ 2,949,558 DWT (ข้อมูลปี พ.ศ. 2542) แบ่งออกเป็น

การขนส่งทางท่อ

  • ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม 67 กิโลเมตร
  • แก๊สธรรมชาติ 350 กิโลเมตร

อ้างอิง

  1. [คมนาคม ฟุ้งความสามารถแข่งขันด้านโครงสร้างพื้นฐานไทยดีขึ้นมา 1 อันดับ - คุณภาพถนนไทย ดีขึ้นพรวด 12 อันดับ https://www.khaosod.co.th/economics/news_6583756]
  2. บีทีเอสเล็งลงทุนส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าทุกเส้น
  3. http://www.thairath.co.th/content/eco/176151
  4. BTS ​เผย​เม.ย.54-มี.ค.55ยอด​ผู้​ใช้รถ​ไฟฟ้า​โต 21.2%,​เตรียมรับมอบขบวนรถ​เพิ่ม
  5. http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=310&contentID=87518 แอร์พอร์ตลิงก์ลด 40%
  6. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-30. สืบค้นเมื่อ 2011-05-21.
  7. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-10-10. สืบค้นเมื่อ 2018-10-10.
  8. http://www.academyofmagical.com/gallery,show,141.html

แหล่งข้อมูลอื่น