ข้ามไปเนื้อหา

วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร

พิกัด: 13°44′28″N 100°29′22″E / 13.741209°N 100.489578°E / 13.741209; 100.489578
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร
อาคารโมลีปริยัตยากร เฉลิมพระเกียรติฯ
แผนที่
ชื่อสามัญวัดโมลีโลกยาราม, วัดท้ายตลาด
ที่ตั้งเลขที่ 2 ซอยวังเดิม 6 ถนนวังเดิม แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร 10600
ประเภทพระอารามหลวง ชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร
นิกายเถรวาท (มหานิกาย)
เจ้าอาวาสพระพรหมวชิโรดม (สุทัศน์ วรทสฺสี)
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดโมลีโลกยาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิด ราชวรวิหาร เดิมเป็น

วัดราษฎร์ สร้างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ ณ เลขที่ ๒ หลังพระราชวังเดิมครั้งกรุงธนบุรี ริมคลองบางกอกใหญ่ (คลองบางหลวง) ฝั่งเหนือ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร

เขตและอุปจารวัด

วัดนี้มีเนื้อที่จำนวน ๑๒ ไร่ ๓ งาน เว้นด้านหน้าวัดซึ่งจดคลองบางกอกใหญ่. ด้านเดียว  นอกนั้นกำแพงสูงประมาณ ๕ ศอก ล้อมทั้ง ๓ ด้าน บางด้านเป็นกำแพงพระราชวังเดิมเนื่องจากเป็นวัดที่ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานพระราชวังเดิมสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีนั่นเอง มีอาณาเขต ดังนี้

ทิศเหนือ ติดกำแพงกองทัพเรือ กรมสื่อสารทหารเรือ

ทิศใต้ ติดคลองบางกอกใหญ่ ฝั่งตรงกันข้ามเป็นที่ตั้งของวัดกัลยาณมิตร

ทิศตะวันออก ติดกำแพงกองทัพเรือ บริเวณอาคาร ๕

ทิศตะวันตก ติดบ้านเรือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่วัดและสะพานอนุทินสวัสดิ์

ผู้สร้างและผู้ปฏิสังขรณ์

วัดนี้เป็นวัดโบราณ สร้างมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ไม่ปรากฏว่าสร้างเมื่อพุทธศักราชเท่าใด และใครเป็นผู้สร้าง มีชื่อเรียกทั่วไปว่า “วัดท้ายตลาด” มาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา จนถึงยุคกรุงรัตนโกสินทร์ปัจจุบัน เนื่องจากตั้งอยู่ต่อจากตลาดเมืองกรุงธนบุรี คำว่า “ตลาดเมืองธนบุรี” นั้น ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่า เดิมแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้ตัดเป็นเส้นตรงอย่างเช่นทุกวันนี้ ช่วงระหว่างปากคลองบางกอกน้อยบริเวณโรงพยาบาลศิริราชถึงบริเวณท่าเตียนนั้นเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาที่ขุดขึ้นใหม่ใน พ.ศ. ๒๐๘๕ สมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๑๓ (พ.ศ. ๒๐๗๗-๒๐๘๙) แห่งกรุงศรีอยุธยา เพื่อประโยชน์ในการสัญจรทางน้ำ การเมือง การปกครอง การทหาร การค้าขายทั้งในและนอกราชอาณาจักร เป็นต้น สำหรับแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมในช่วงบางกอกนั้นเป็นสายที่คดเคี้ยว เมื่อไหลเข้าสู่บางกอกจะไหลวกเข้าสู่คลองบางกอกน้อยเชื่อมต่อคลองบางกอกใหญ่ ไหลมาออกที่ปากน้ำ บริเวณหน้าวัดท้ายตลาดกับบริเวณข้างวัดกัลยาณมิตร ทำให้เสียเวลาในการเดินทางเรือ จึงโปรดให้ขุดคลอง เรียกว่า “คลองลัดบางกอก” กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา

ดังที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งบริเวณเหล่านี้ในสมัยนั้นเป็นตลาดน้ำขนาดใหญ่ที่มีเรือสินค้าทุกประเภทจอดเรียงรายเพื่อค้าขายสินค้าทุกชนิดเต็มไปหมด ซึ่งได้แก่บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่และปากคลองตลาดทุกวันนี้ วัดนี้จึงเรียกว่า “วัดท้ายตลาด”

วัดโมลีโลกยารามแห่งนี้มีความสำคัญต่อประเทศชาติและพระราชวงศ์ สรุปได้ดังนี้

สมัยกรุงธนบุรี

หลังสถาปนากรุงธนบุรีศรีมหาสมุทรเป็นราชธานีแห่งใหม่ของสยามประเทศแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงมีพระราชดำริว่า บริเวณเขตพระราชวังมีความคับแคบ เนื่องจากมีวัดขนาบอยู่ทั้งสองด้าน จึงทรงรวมเขตพื้นที่ของวัดทั้ง ๒ แห่ง คือ

วัดท้ายตลาด (วัดโมลีโลกยาราม) กับวัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) เข้าเป็นเขตพระราชวัง จึงเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์อยู่ประจำตลอดสมัยกรุงธนบุรี วัดท้ายตลาดและวัดแจ้งจึงนับเป็นพระอารามในเขตพระราชวังเหมือนสมัยกรุงศรีอยุธยา

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ทรงย้ายเมืองหลวงมาตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงกันข้ามกับที่ตั้งของกรุงธนบุรี คือ พระบรมมหาราชวังในปัจจุบัน โปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒) ทรงบูรณปฏิสังขรณ์

พระอารามและสร้างเสนาสนะสงฆ์ขึ้นใหม่ จึงนับได้ว่า วัดนี้เป็นพระอารามหลวงมาตั้งแต่ สมัยรัชกาลที่ ๑

ในการนี้ โปรดให้สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีหรือสมเด็จกรมพระอมรินทรา-มาตย์ (นาก) พระอัครมเหสีสร้างพระอุโบสถขนาดกลาง ทรงไทยยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีลักษณะวิจิตรงดงาม เมื่อสร้างและบูรณะเสนาสนะสงฆ์เสร็จแล้ว โปรดให้พระสงฆ์มาอยู่จำพรรษาทั้งวัดท้ายตลาดและวัดแจ้ง ทรงตั้ง

พระมหาศรี เปรียญเอก วัดราชสิทธาราม (วัดพลับ) เป็น พระเทพโมลี พร้อมคณะพระอันดับมาครองวัดท้ายตลาด

ภายหลังพระเทพโมลี (ศรี) ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็น พระพุทธโฆษาจารย์นับเป็นปฐมเจ้าอาวาสของ วัดโมลีโลกยารามในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ และทรงโปรดให้พระปลัดสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตาราม)เป็นพระโพธิวงศาจารย์ ให้พระครูเมธังกร วัดบางหว้าใหญ่ เป็นพระศรีสมโพธิโปรดให้พระราชาคณะทั้งสองมาครองวัดแจ้ง

สมัยรัชกาลที่ ๒ ทรงขนานนามวัดใหม่ว่า “วัดพุทไธสวรรยาวาศวรวิหาร” เรียกโดยทั่วไปว่า “วัดพุทไธสวรรย์” ทรงพระราชศรัทธาในอดีตเจ้าอาวาสวัดนี้ คือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) เนื่องจากสมัยนั้นสถานศึกษาวิชาการต่างๆ อยู่ตามวัด โปรดให้พระราชโอรสทั้งหลายเสด็จมาทรงพระอักษรกับเจ้าประคุณสมเด็จรูปนี้

พระราชโอรสพระองค์สำคัญที่เสด็จมาทรงพระอักษร เช่น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า

เจ้าอยู่หัวพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น นอกจากนั้นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระพุทธโฆษาจารย์ ได้เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะที่ผนวช

อีกด้วย ดังบันทึกไว้ในพงศาวดารว่า

“พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่ครั้งยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอในรัชกาลที่ ๑ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ พระญาณสังวรเถร (สุก) เป็นพระราชอุปัธยาจารย์ พระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) วัดโมลีโลกยาราม เป็น

พระราชกรรมวาจาจารย์”

สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงมีพระราชศรัทธาสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ทั่วทั้งพระอารามให้บริบูรณ์งดงามยิ่งขึ้นกว่าเก่า ทรงสร้างหอระฆัง

หอพระไตรปิฎก ทรงบูรณปฏิสังขรณ์หมู่กุฎีสงฆ์และพระอุโบสถ เป็นต้น สิ้นพระราชทรัพย์

ห้าร้อยเก้าสิบหกชั่งแปดตำลึงแล้ว ทรงขนานนามวัดใหม่ว่า “วัดโมลีโลกย์สุธารามอาวาศวรวิหาร พระอารามหลวง” เรียกสั้น ๆ ว่า “วัดโมลีโลกย์สุธาราม”  ซึ่งต่อมาเรียกว่า วัดโมลีโลกยาราม

ในรัชกาลนี้ ทรงพระราชทานสถาปนาพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) ผู้เป็นพระอาจารย์ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชาคณะที่ “สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์” และถึงมรณภาพในรัชกาลนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้หล่อรูปสมเด็จ-พระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) คราวเดียวกับหล่อรูปของพระญาณสังวรเถร (สุก) วัดพลับ (วัดราชสิทธาราม) ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชผู้เป็นพระราชอุปัธยาจารย์ของพระองค์ สำหรับรูปหล่อของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) ทรงประดิษฐานไว้ในหอพระเจ้า (หอสมเด็จวัดโมลีโลกย์) เมื่อปีเถาะพุทธศักราช ๒๓๘๖ เพื่อเป็นที่ทรงสักการบูชาเวลาเสด็จมาทอดผ้าพระกฐิน

มีประวัติเนื่องในพระราชวงศ์อีกอย่างหนึ่ง เมื่อรัชกาลที่ ๓ ครองราชสมบัติแล้ว

สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี หรือ กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระบรมราชชนนีพระพันปีหลวง (เจ้าฟ้าบุญรอด พ.ศ.๒๓๑๐ - พ.ศ.๒๓๗๙) พระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ทรงเป็นพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๒ จึงเสด็จออกไปประทับอยู่กับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชโอรสพระองค์น้อยที่พระราชวังเดิม เมื่อรื้อตำหนักไม้ในพระบรมมหาราชวังเปลี่ยนสร้างเป็นพระตำหนักตึก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้รื้อพระตำหนักแดง ซึ่งสมเด็จพระบรมราชินี

พระองค์นั้นเคยประทับไปสร้างถวายที่พระราชวังเดิมทั้งหมู่ ครั้นสมเด็จพระราชินีพระองค์นั้นสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้รื้อพระตำหนักแดงที่พระราชมารดาเสด็จประทับไปสร้างถวายเป็นกุฏิเจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงเห็นว่าพระตำหนักแดงหลังนั้นควรจะอยู่ที่วัดเขมาภิรตาราม เนื่องจากเป็นวัดที่สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีพระราชมารดาของพระองค์ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ จึงโปรดให้กระทำผาติกรรมย้ายพระตำหนักแดงหลังนั้นไปสร้างเป็นกุฎีเจ้าอาวาสวัดเขมาภิรตารามและทรงสร้างกุฎีตึกพระราชทานเจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยารามแทนพระตำหนักแดงยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ ทั้ง ๒ แห่ง นอกจากนั้นได้ทรงปฏิสังขรณ์โบราณสถาน

โบราณวัตถุ และปูชนียวัตถุอื่น ๆ ในวัดโมลีโลกยาราม ตลอดทั้งพระอารามอีกครั้งหนึ่ง ที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ พระองค์ได้ทรงบูรณะพระอุโบสถ โดยพระราชทานตราไอยราพรต ซึ่งเป็นตราประจำแผ่นดินสมัยนั้นประดิษฐานไว้ที่หน้าบันพระอุโบสถด้วย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบูรณะหอพระไตรปิฎกตรงกับสมัยพระธรรมเจดีย์ (อยู่) เป็นเจ้าอาวาส และเสด็จพระราชดำเนินมาทอดผ้าพระกฐิน  ณ พระอารามนี้หลายวาระ เช่นปี พ.ศ.๒๔๑๘ เป็นต้น

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงจัดลำดับ

พระอารามหลวง โปรดให้วัดโมลีโลกยารามเป็นพระอาราม หลวงชั้นโท ชนิด ราชวรวิหาร และเสด็จพระราชดำเนินมาทอดผ้าพระกฐิน พ.ศ. ๒๔๕๘

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินมาทอดผ้าพระกฐินเมื่อวันพุธ ที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๒๑ นอกจากนั้น ในปี พ.ศ.๒๕๔๙ รัฐบาลยังได้บูรณะพระอาราม โดยเฉพาะเขตพุทธาวาส ได้แก่ พระอุโบสถ พระวิหาร หอสมเด็จ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวโรกาสที่พระองค์ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี อีกด้วย

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้เสด็จมาวัดโมลีโลกยาราม เพื่อนมัสการพระประธานในพระอุโบสถและเพื่อทอดพระเนตรหอพระไตรปิฎกสมัยรัชกาลที่ ๓ เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๑

นับได้ว่า วัดโมลีโลกยาราม ราชวรวิหาร เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ชาติไทยและโบราณคดี เนื่องจากเป็นวัดที่มีโบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุที่ทรงคุณค่าต่อการศึกษา มีความสำคัญต่อประเทศชาติและเกี่ยวข้องกับราชวงศ์

สรุปได้ดังนี้

๑. เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถึง ๓ รัชกาลเป็นอย่างน้อย ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ทั่วทั้งพระอาราม

๒. เป็นสถานที่ศึกษาอักษรสมัยเบื้องต้นของพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเมื่อยังทรงพระเยาว์ โดยบรรดาพระราชโอรสเหล่านั้น

ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินถึง ๓ พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

๓. เป็นที่สถิตของสมเด็จพระราชาคณะผู้ทรงคุณธรรมสำคัญ คือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) ผู้เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงผนวช

อนึ่ง การบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามหลวงนอกจากที่กล่าวมาแล้วในยุคก่อน ยังไม่พบหลักฐานปรากฏ มาปรากฏในยุคพระสนิทสมณคุณ (เงิน) อดีตเจ้าอาวาสลำดับที่ ๘ ได้จัดการปฏิสังขรณ์เสนาสนะให้ดีขึ้น

หลายแห่ง แต่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ก็ถึงมรณภาพ ครั้นถึงยุคพระประสิทธิศีลคุณ (จ้อย) อดีตเจ้าอาวาสลำดับที่ ๙ มีการปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุสำคัญขึ้นอีกหลายอย่าง เช่น เสนาสนะสงฆ์ พระประธาน ถนนหน้าวัด เป็นต้น ยุคพระรัตนมุนี (โสม ป.ธ.๗) อดีตเจ้าอาวาสลำดับที่ ๑๑

ได้สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมลักษณะทรงไทย ๒ ชั้น กว้าง ๘ เมตร ยาว ๒๘ เมตร ปัจจุบันได้รื้อและสร้างอาคารโรงเรียน

พระปริยัติธรรมหลังใหม่ เพื่อขยายงานการศาสนศึกษา ในยุคของ พระพรหมวชิโรดม (สุทัศน์ ป.ธ.๙) เจ้าอาวาสรูปที่ ๑๓ และเสนาสนะสงฆ์ ในยุคของพระพรหมกวี

(วรวิทย์ ป.ธ.๘) อดีตเจ้าอาวาสลำดับที่ ๑๒

ได้บูรณะเสนาสนะสงฆ์ทุกคณะ จัดให้มีทางเข้าวัดจัดระเบียบกุฎีสงฆ์ในคณะต่างๆ ทั้ง ๖ คณะตามกำลังงบประมาณที่พอหาได้ เพื่อรองรับ

พระภิกษุสามเณรที่เข้ามาอยู่เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมมากขึ้น บูรณะเขตพุทธาวาส เช่น พระอุโบสถ พระวิหาร หอสมเด็จ เป็นต้น และริเริ่มการก่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ “อาคารโมลีปริยัตยากร” เพื่อใช้เป็นที่ศึกษาทั้งปริยัติและปฏิบัติ และบำเพ็ญกุศล แต่ยังไม่แล้วเสร็จก็ถึงมรณภาพ

ต่อมา พระเมธีวราภรณ์ (สุทัศน์ ป.ธ.๙ ปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์ที่

“พระพรหมวิชิโรดม”) เจ้าอาวาสลำดับที่ ๑๓ ได้บูรณะพระอารามเพิ่มเติม

หลายรายการ คือ บูรณะหอพระไตรปิฎก สมัยรัชกาลที่ ๓, หอสวดมนต์ สมัยรัชกาลที่ ๔,

กุฎีเจ้าอาวาส  สมัยรัชกาลที่ ๔, หอระฆังสมัยรัชกาลที่ ๓, สระน้ำโบราณ และเพื่อรองรับระบบการศึกษาพระปริยัติธรรม และจำนวนพระภิกษุสามเณรที่เข้ามาศึกษา

พระปริยัติธรรมเพิ่มมากขึ้นทุกปี มีจำนวนมากกว่า ๕๐๐ รูป จึงได้สร้างอาคารที่พักพระภิกษุสามเณร (อาคาร ๔๘ ปี พระเทพปริยัติโมลี และโรงเรียน

พระปริยัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างขึ้น สิ้นค่าก่อสร้าง ๖๙,๕๐๐,๐๐๐ บาท และมีโครงการจะบูรณปฏิสังขรณ์เขตพุทธาวาสและเขตสังฆาวาสทั้งหมด ก่อสร้างอาคารหอฉัน และอาคารที่พักพระอาคันตุกะ รวมทั้งปรับ

ภูมิทัศน์ทั้งพระอาราม ภายใต้ข้อจำกัดด้านอาณาบริเวณของวัด


ลำดับเจ้าอาวาส

เจ้าอาวาสพระอารามนี้ เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยายังไม่สามารถสืบค้นได้ เมื่อถึงยุคกรุงรัตนโกสินทร์ นับแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ จนถึงรัชกาลปัจจุบันมีเจ้าอาวาสครองวัดจำนวน ๑๓ รูป มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

๑. สมเด็จพระราชาคณะ ๒ รูป

๒. พระราชาคณะเจ้าคณะรอง (รองสมเด็จพระราชาคณะ) ๓ รูป

๓. พระราชาคณะชั้นธรรม ๒ รูป

๔. พระราชาคณะชั้นสามัญ ๕ รูป

๕. พระครูสัญญาบัตร ๑ รูป

มีรายนามและประวัติย่อพอสืบค้นได้ ดังนี้

๑. พระพุทธโฆษาจารย์ (ศรี เปรียญเอก) (๒๘ ปี, พ.ศ. ๒๓๒๕ – ๒๓๕๒)

ชาติภูมิไม่ปรากฏ เดิมพระมหาศรี เปรียญเอก อยู่วัดพลับ (วัดราชสิทธาราม)ซึ่งเป็นวัดที่มีชื่อเสียงในฝ่ายวิปัสสนามาแต่เดิม เมื่อรัชกาลที่ ๑ โปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าฉิม กรมหลวงอิศรสุนทร (รัชกาลที่ ๒) บูรณะวัดท้ายตลาด (วัดโมลีโลกยาราม)แล้วทรงตั้งเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่ “พระเทพโมลี” แล้วโปรดให้ย้ายมาครองพระอารามนี้ ภายหลังได้พระราชทานสถาปนาเป็นที่ “พระพุทธโฆษาจารย์”

๒. สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) (๒๒ ปี, พ.ศ. ๒๓๕๓ – ๒๓๗๔)

ชาติภูมิไม่ปรากฏ ลำดับสมณศักดิ์แต่เดิมไม่ทราบได้ ทราบแต่ว่า ได้รับสถาปนาเป็นที่ “พระพุทธโฆษาจารย์” ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ต่อมา รัชกาลที่ ๓ ทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ “สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์” ท่านเป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษรในเบื้องต้นแด่พระเจ้าแผ่นดินถึง ๓ พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวช เจ้าประคุณสมเด็จก็เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ด้วย เจ้าประคุณสมเด็จเป็นพระมหาเถระรัตตัญญู ทรงภูมิรู้และภูมิธรรม มีจริยาวัตรงดงาม และมีปฏิปทาเป็นที่น่าเลื่อมใส เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของพระเจ้าแผ่นดินและประชาชนทั้งปวง ดังนั้น เมื่อมรณภาพแล้ว พระบาทสมเด็จ-พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้หล่อรูปไว้ในหอพระเจ้า (หอสมเด็จ) ในคราวเดียวกับที่ทรงหล่อพระรูปสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวร (สุก) ซึ่งเป็นพระอุปัธยาจารย์ เพื่อเป็นที่ทรงสักการบูชาเมื่อเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน

๓. สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม ป.๙) (๑๙ ปี, พ.ศ.๒๓๗๕ – ๒๓๙๓)

ชาติภูมิเป็นชาวบ้านบางจาน จังหวัดเพชรบุรี เกิดในสมัยรัชกาลที่ ๑ ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๘ ปีเถาะ จุลศักราช ๑๑๔๕ ตรงกับวันที่ ๓ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๓๒๖ อุปสมบทที่จังหวัดเพชรบุรี แล้วมาเรียนพระปริยัติธรรมอยู่ที่วัดพระเชตุพนฯ พระนคร ถึงรัชกาลที่ ๒ สอบได้เปรียญ ๙ ประโยค ได้รับพระราชทานตั้งเป็นพระราชาคณะที่ “พระรัตนมุนี” อยู่วัดพระเชตุพนฯ ถึงรัชกาลที่ ๓ เมื่อปีจอ พ.ศ.๒๓๖๙ ได้รับการทรงตั้งเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่ “พระเทพโมลี” ต่อมา ถึงปีมะโรง พ.ศ.๒๓๗๕ ตรงกับวันศุกร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็น ที่ “พระพุทธโฆษาจารย์” แล้วโปรดให้อาราธนามาครองวัดโมลีโลกย์ มีสำเนาประกาศที่ทรงตั้ง ดังนี้

“ศิริยศยุภมัศดุ อดีตกาลพระพุทธศักราช ชไมยสหัสสสังวัจฉร ไตรสตาธฤกปัญจสัตตติสังวัจฉร ปัตยุบันกาล นาคสังวัจฉร ผคุณมาศ สุกขปักษ์ เอกาทศมีดฤดี ศุกรวาร ปริเฉทกาลอุกกฤษฏ์ สมเด็จบรมธรรมมฤกพระมหาราชาธิราชเจ้า ผู้ทรงทศพิธราชธรรม์ อนันตคุณวิบุลยปรีชาอันมหาประเสริฐ ทรงพระราชศรัทธา มีพระราชโองการมา ณ

พระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัส พระราชูทิศถาปนาให้เลื่อนพระเทพโมลีขึ้นเป็น “พระพุทธโฆษาจารย์ ญาณอดุลย์ สุนทรนายก ติปิฎกธรา มหาคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี  สถิต ณ วัดโมลีโลกสุธารามาวาศ วรวิหาร พระอารามหลวง ให้จฤกถฤกาลอวยผล

พระชนมายุศมศิริสวัสดิพิพัฒนมงคล วิมลทฤฆายุศม ในพระพุทธศาสนา เทอญ”

ถึงรัชกาลที่ ๔ โปรดให้สถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ที่ “สมเด็จพระพุทธ-โฆษาจารย์” เมื่อปีกุน พ.ศ.๒๓๙๔ พร้อมกับทรงตั้งสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส

ตำแหน่งเจ้าคณะกลาง เพราะคณะเหนือมีสมเด็จพระอริยวงศ์ เป็นเจ้าคณะอยู่แล้ว

และโปรดให้อาราธนามาครองวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์) (พ.ศ.๒๓๙๔ - พ.ศ.๒๔๐๐) มีสำเนาที่ทรงตั้ง ดังนี้

“ให้เลื่อนพระพุทธโฆษาจารย์ขึ้นเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ญาณอดุลย์ สุนทรนายก ตรีปิฎกวิทยาคุณ วิบุลย์คัมภีรญาณ สุนทรมัชฌิมคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี สถิตในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรวิหาร พระอารามหลวง มีนิตยภัตร เดือนละ ๕ ตำลึง มีฐานานุศักดิ์ควรตั้งฐานานุกรมได้ ๘ รูป คือ พระครูปลัด นิตยภัตรเดือนละ ๒ ตำลึง ๑ พระครูวินัยธร ๑ พระครูวินัยธรรม ๑ พระครูสังฆกรรมประสิทธิ์ ๑ พระครูวิจิตรสาลวัน ๑ พระครูสังฆสิทธิกร ๑ พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑”

ตำนานสุขาภิยาจนคาถา

อัจฉริยภาพด้านภาษาบาลีของเจ้าประคุณสมเด็จ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม ป.๙) เมื่อดำรงสมณศักดิ์ที่ “พระพุทธโฆษาจารย์”

ในรัชกาลที่ ๓ มีเหตุเป็นอริกับพระวชิรญาณภิกษุ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) เมื่อยังทรงผนวชถึง ๒ คราว คือ คราวหนึ่ง เมื่อพระวชิรญาณภิกษุเข้าแปลหนังสือหน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว วันแรกทรงแปลอรรถกถาธรรมบท

รุ่งขึ้นทรงแปลมังคลัตถทีปนี พระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) เป็นหนึ่งในคณะกรรมการสอบพระปริยัติธรรมสนามหลวงในขณะนั้น ในการแปลพระปริยัติธรรมครั้งนั้น พระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) ได้สอบถามข้อความที่แปล เนื่องจากเห็นว่าทรงแปลไม่ถูกต้องไม่ผ่านเกณฑ์ จะให้พระวชิรญาณภิกษุตกเสียให้ได้ กระทั่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งประทับนั่งฟังการแปลอยู่ด้วยรู้สึกขัดพระราชหฤทัย จนต้องโปรดให้หยุดการแปลหรือหยุดการสอบ เรื่องนี้เป็นที่เล่าลือกันตลอดมา

อีกเรื่องหนึ่งเล่ากันว่า ปลายรัชกาลที่ ๓ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำรงตำแหน่งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะแล้ว มีการสอบไล่พระปริยัติธรรมที่พระอุโบสถวัดมหาธาตุ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) เป็นคณะกรรมการผู้สอบไล่ในครั้งนั้น นักเรียนผู้เข้าสอบแปลคือ พระมหาผ่อง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) เกิดมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องการแปลหนังสือ จนถึงกับเป็นเหตุบาดหมางกันขึ้นอีกครั้ง

ต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต พระบาทสมเด็จ

พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ พระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) มีความหวาดหวั่นต่อพระราชอาญาเป็นกำลัง เกรงว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงพยาบาท เตรียมจะหลบเลี่ยงออกไปอยู่เมืองเพชรบุรีบ้านเกิด แต่เมื่อถึงคราวเลื่อนสมณศักดิ์พระราชาคณะผู้ใหญ่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีรับสั่งว่า พระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) นี้ หนังสือดี ซึ่งหมายความว่า มีความรู้ทางภาษาบาลีดี ให้เลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๔ ซึ่งเป็นปีที่ทรงครองราชสมบัติ ซึ่งในคราวนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่น

นุชิตชิโนรส โดยมหาสมณุตมาภิเษกขึ้นเป็น กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงดำรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระสังฆราชด้วย เมื่อเป็นสมเด็จพระราชาคณะแล้วโปรดให้มาครองวัดมหาธาตุ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) มีความยินดีรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ

ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ไม่ทรงพยาบาท จึงได้แต่งคาถาถวายพระพรเป็นภาษาบาลีบทหนึ่งสนองพระเดชพระคุณ ชื่อว่า สุขาภิยาจนคาถา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าคาถานั้นไพเราะ แต่งดีมีอรรถรสทางภาษาและความหมาย จึงโปรดให้พระสงฆ์สวดในพระบรมมหาราชวังเป็นประจำ ซึ่งยังถือเป็นประเพณีสวดสืบมาจนทุกวันนี้ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) ถึงมรณภาพเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๐ ในรัชกาลที่ ๔ สิริรวมอายุได้ ๗๔ ปี

         

  สุขาภิยาจนคาถา

ยํ ยํ เทวมนุสฺสานํ        มงฺคลตฺถาย ภาสิตํ[1]

ตสฺส ตสฺสานุภาเวน                  โหตุ ราชกุเล สุขํ

เย เย อารกฺขกา เทวา              ตตฺถ ตตฺถาธิวาสิโน

อิมินา ธมฺมทาเนน                    สพฺเพ อมฺเหหิ ปูชิตา

สทา ภทฺรานิ ปสฺสนฺตุ               สุขิตา โหนฺตุ นิพฺภยา

อปฺปมตฺตา จ อมฺเหสุ                สพฺเพ รกฺขนฺตุ โน สทา

ยญฺจ โน ภาสมาเนหิ                กุสลํ ปสุตํ พหุํ

ตนฺโน เทวานุโมทนฺตุ                จิรํ ติฏฺฐนฺตุ สาตตํ

เย วา ชลาพุชณฺฑชา               สํเสทโชปปาติกา

อเวรา โหนฺตุ สพฺเพ เต             อนีฆา นิรุปทฺทวา

ปสฺสนฺตุ อนวชฺชานิ                   มา จ สาวชฺชมาคมา

จิรํ ติฏฺฐตุ โลกสฺมึ                     สมฺมาสมฺพุทฺธสาสนํ

ทสฺเสนฺตํ โสตวนฺตูนํ                 มคฺคํ สตฺตวิสุทฺธิยา

ยาว พุทฺโธติ นามมฺปิ                โลกเชฏฺฐสฺส สตฺถุโน

สมฺมาเทสิตธมฺมสฺส                  ปวตฺตติ มเหสิโน

ปสนฺนา โหนฺตุ สพฺเพปิ             ปาณิโน พุทฺธสาสเน

สมฺมา ธารํ ปเวจฺฉนฺโต             กาเล เทโว ปวสฺสตุ

วุฑฺฒิภาวาย สตฺตานํ                สมิทฺธํ เนตุ เมทนึ

มาตา ปิตา จ อตฺรชํ                 นิจฺจํ รกฺขนฺติ ปุตฺตกํ

เอวํ ธมฺเมน ราชาโน                 ปชํ รกฺขนฺตุ สพฺพทา.

————————-

สุขาภิยาจนคาถา แปล

[แก้]

ยํ ยํ เทวมนุสฺสานํ                     มงฺคลตฺถาย ภาสิตํ

     พระปริตรใด ๆ อันเราสวดแล้ว เพื่อประโยชน์ แก่มงคล แห่งเทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย

ตสฺส ตสฺสานุภาเวน                  ด้วยอานุภาพแห่งพระปริตรนั้น ๆ

โหตุ ราชกุเล สุขํ                      ขอความสุขจงมีในราชสกุล

เย เย อารกฺขกา เทวา              เทพเจ้าทั้งหลายใด ๆ ผู้รักษาโดยเอื้อเฟื้อ

ตตฺถ ตตฺถาธิวาสิโน                  ผู้สิงสถิตอยู่ในสถานนั้น ๆ

อิมินา ธมฺมทาเนน                    สพฺเพ อมฺเหหิ ปูชิตา

            ทั้งหมด อันเราบูชาแล้ว ด้วยธรรมทานนี้

สทา ภทฺรานิ ปสฺสนฺตุ                

            เทพเจ้าทั้งหลายนั้น ๆ จงเห็นสิ่งอันเจริญทั้งหลายทุกเมื่อ

สุขิตา โหนฺตุ นิพฺภยา                จงเป็นผู้ถึงซึ่งความสุข ปราศจากภัยทุกเมื่อ

อปฺปมตฺตา จ อมฺเหสุ                สพฺเพ รกฺขนฺตุ โน สทา

            อนึ่ง เหล่าเทพเจ้าทั้งสิ้น จงอย่าประมาทแล้วในเรา รักษาเราทุกเมื่อ

ยญฺจ โน ภาสมาเนหิ                กุสลํ ปสุตํ พหุํ

            อนึ่ง กุศลอันใดมาก อันเราภาษิตอยู่ ขวนขวายแล้ว

ตนฺโน เทวานุโมทนฺตุ                 

            เทพเจ้าทั้งหลาย จงอนุโมทนากุศลอันนั้น ของเรา

จิรํ ติฏฺฐนฺตุ สาตตํ                    จงดำรงอยู่ติดต่อกันสิ้นกาลนาน

เย วา ชลาพุชณฺฑชา                

            อนึ่ง สัตว์ทั้งหลายใด ที่เป็นชลาพุชะกำเนิดในครรภ์มารดา และที่เป็นอัณฑชะกำเนิดในฟอง

สํเสทโชปปาติกา                       

            และที่เป็นสังเสทชะ กำเนิดในเหงื่อไคล และที่เป็นอุปปาติกะกำเนิดลอยขึ้น

อเวรา โหนฺตุ สพฺเพ เต             ขอสรรพสัตว์ทั้งหลายนั้น จงเป็นผู้ไม่มีเวร

อนีฆา นิรุปทฺทวา                      ไม่มีทุกข์ ไม่มีอุปัทวะ

ปสฺสนฺตุ อนวชฺชานิ                   เห็นกรรมทั้งหลาย อันหาโทษมิได้

มา จ สาวชฺชมาคมา                 

            อนึ่ง กรรมอันมีโทษ อย่ามาพ้องพานสัตว์เหล่านั้นจ        

จิรํ ติฏฺฐตุ โลกสฺมึ                     สมฺมาสมฺพุทฺธสาสนํ

ทสฺเสนฺตํ โสตวนฺตูนํ                 มคฺคํ สตฺตวิสุทฺธิยา

            ขอคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันเราแสดงมรรคาแก่สัตว์ผู้มีโสตวิญญาณธาตุ เพื่อความหมดจดแก่สัตว์ จงดำรงอยู่ในโลกสิ้นกาลนานย

ยาว พุทฺโธติ นามมฺปิ                โลกเชฏฺฐสฺส สตฺถุโน

สมฺมาเทสิตธมฺมสฺส                  ปวตฺตติ มเหสิโน

            แม้พระนามว่า พุทโธ ดังนี้ ของพระศาสดา ผู้ประเสริฐในโลก ผู้มีธรรมอันแสดงแล้วโดยชอบ ผู้แสวงหาซึ่งคุณอันใหญ่ ยังเป็นไปอยู่ เพียงใด

ปสนฺนา โหนฺตุ สพฺเพปิ             ปาณิโน พุทฺธสาสเน

            แม้สรรพสัตว์ทั้งหลาย จงเป็นผู้เลื่อมใสแล้ว ในพระพุทธศาสนา

สมฺมา ธารํ ปเวจฺฉนฺโต             กาเล เทโว ปวสฺสตุ

            ขอฝนจงเพิ่มให้อุทกธาร ตกต้องในฤดูกาล โดยชอบ

วุฑฺฒิภาวาย สตฺตานํ                สมิทฺธํ เนตุ เมทนึ

            จงนำไปซึ่งเมทนีดลให้สำเร็จประโยชน์ เพื่ออันบังเกิดความเจริญแก่สัตว์ทั้งหลาย

มาตา ปิตา จ อตฺรชํ                 นิจฺจํ รกฺขนฺติ ปุตฺตกํ

            มารดาและบิดา ย่อมถนอมบุตรน้อย อันบังเกิดในตน เป็นนิตย์ ฉันใด

เอวํ ธมฺเมน ราชาโน                 ปชํ รกฺขนฺตุ สพฺพทา.    

           พระราชาทั้งหลาย จงทรงรักษาประชาราษฎร์โดยชอบ ในกาลทั้งปวง ฉันนั้น.

๔. พระธรรมไตรโลก (รอด ป.ธ.๔) (๑๖ ปี, พ.ศ.๒๓๙๔ – ๒๔๐๙)

ประวัติเดิมไม่สามารถจะสืบได้ ปรากฏแต่ว่า เมื่อในรัชกาลที่ ๓ เป็นพระราชา

คณะผู้ใหญ่ที่ “พระกระวีวงศ์” อยู่วัดโมลีโลกย์สุธาราม ต่อมาได้เลื่อนเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่ “พระเทพกระวี” ถึงรัชกาลที่ ๔ เมื่อปีกุน พ.ศ.๒๓๙๔ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่ “พระธรรมไตรโลก” ซึ่งเป็นปีที่พระพุทธโฆษาจารย์ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ท่านครองวัดโมลีโลกย์ต่อจากเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ผู้เป็นพระอาจารย์สอนบาลี และต่อมาเจ้าประคุณสมเด็จได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดให้ไปครองวัดมหาธาตุในปี พ.ศ. ๒๓๙๔ มรณภาพในปี

พ.ศ.๒๔๐๐ รวมเป็นเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ๗ ปี นับเป็นเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ รูปที่ ๗ พระธรรมไตรโลก ถึงมรณภาพในรัชกาลที่ ๔ เมื่อราวปีขาล พ.ศ. ๒๔๐๙

๕. พระธรรมเจดีย์ (อยู่ ป.ธ.๔) (๒๐ ปี, พ.ศ. ๒๔๑๐ – ๒๔๒๙)

เกิดในรัชกาลที่ ๒ เมื่อปีกุน จุลศักราช ๑๑๗๗ ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๕๘

ชาติภูมิเป็นชาวเมืองแกลง จังหวัดระยอง สมัยรัชกาลที่ ๓ อุปสมบทแล้ว ได้เข้ามาศึกษาพระปริยัติธรรมในพระนคร ในสำนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) วัดโมลีโลกย์ และได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมได้เปรียญ ๔ ประโยค เป็นพระสงฆ์ที่เก่งภาษาบาลีมากรูปหนึ่ง เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าอยู่หัว เป็นศิษย์เอกของเจ้าประคุณสมเด็จรูปหนึ่ง

มีคำเล่ากันว่า เมื่อตอนปลายรัชกาลที่ ๓ เปรียญที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า-เจ้าอยู่หัวโปรดปรานมากมี ๔ รูป ด้วยกัน เรียกนามเป็นคำคล้องจองกันว่า “ชา ชู อยู่ เย็น”

พระมหาชา เป็นเปรียญ ๘ ประโยค อยู่วัดมหาธาตุ ลาสิกขาออกมารับราชการ ในรัชกาลที่ ๔ ได้เป็นนายหัสบำเรอหุ้มแพร ถึงรัชกาลที่ ๕ ได้รับพระราชทานฐานันดรศักดิ์ คือ หลวงศรีสังขกร พระพิพากษานานาประเทศกิจ พระยาจ่าแสนบดี และพระยาพฤฒาธิบดี ในกระทรวงมหาดไทย

พระมหาชู เป็นเปรียญ ๘ ประโยค อยู่วัดโมลีโลกย์ ได้เป็นพระราชาคณะที่ “พระนิกรมมุนี” แล้วไปอยู่วัดนาคกลาง ลาสิกขาออกมารับราชการในรัชกาลที่ ๔ ได้เป็นหลวงราชาภิรมย์ในกรมราชบัณฑิต ชำนาญเทศน์มหาชาติมากหาผู้เสมอมิได้ โปรดให้เป็นพระอาจารย์ฝึกหัดพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถวายเทศน์มหาชาติเมื่อทรงผนวชเป็นสามเณร ต่อมา ก็ได้ฝึกหัดพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์อื่นอีก

หลายพระองค์ ในรัชกาลที่ ๕ โปรดให้เป็นตำแหน่งหลวงอัธยา ในกรมลูกขุน ณ

ศาลหลวง แล้วได้เลื่อนเป็นพระราชครูพิราม

พระมหาเย็น เป็นเปรียญ ๘ ประโยค อยู่วัดมหาธาตุ ลาสิกขาในสมัยรัชกาลที่ ๔

ได้เป็นจางวางในสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๕ โปรดให้เป็นหลวงอัธยา แล้วได้เลื่อนเป็นหลวงเทพราชธาดาในกรมลูกขุน ณ ศาลหลวง

ส่วน พระมหาอยู่ นั้น เมื่อรัชกาลที่ ๔ โปรดพระราชทานสถาปนาให้พระพุทธ-โฆษาจารย์ (ฉิม) เป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ไปครองวัดมหาธาตุ ก็ตามไปอยู่ด้วยจนเจ้าประคุณสมเด็จมรณภาพแล้ว จึงกลับมาอยู่วัดโมลีโลกย์ ต่อมาได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ “พระอมรเมธาจารย์” เมื่อปีฉลู พ.ศ.๒๔๐๘ และโปรดให้อาราธนาไปครองวัดนาคกลาง ต่อมา ถึงปีเถาะ พ.ศ.๒๔๑๐ เจ้าอาวาสวัดโมลีโลกย์ว่างลง (พระธรรมไตรโลก (รอด) มรณภาพ) จึงโปรดให้อาราธนากลับไปครองวัดโมลีโลกย์ ถึงรัชกาลที่ ๕ ทรงตั้งเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่ “พระเทพมุนี” เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๒๒ แล้วโปรดให้เลื่อนเป็น “พระธรรมเจดีย์” เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๒๔ ถึงมรณภาพด้วยอหิวาตกโรคในรัชกาลที่ ๕ เมื่อวันอังคาร เดือนหก ขึ้น ๒ ค่ำ อัฐศก เวลาบ่ายสี่โมงเศษ ปีจอ พ.ศ. ๒๔๒๙ สิริรวมอายุ ๗๒ ปี

๖. พระราชานุพัทธมุนี (ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร, ป.๕)

(๗ ปี, พ.ศ. ๒๔๓๐-๒๔๓๖)

เป็นบุตรหม่อมเจ้าถึก (พระโอรสในสมเด็จพระประพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์) เกิดที่บ้านบางอ้อ (อำเภอบ้านนา) จังหวัดนครนายก เพราะบิดาไปตั้งบ้านเรือนอยู่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อวันจันทร์ แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๙ ปีมะเส็ง จุลศักราช ๑๒๑๙ ตรงกับวันจันทร์ ที่ ๑๗ สิงหาคม

๒๔๐๐ ได้ย้ายเข้ามาอยู่กรุงเทพมหานครกับบิดาแต่ยังเยาว์วัย ได้เรียนอักษรสมัยในสำนักบิดา แล้วเริ่มเรียนภาษาบาลีในสำนักอาจารย์จีน พออายุได้ ๗ ขวบ บิดาพาไปถวายตัวเป็นลูกศิษย์หม่อมเจ้าสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัต เสนีวงศ์) ขณะพระองค์เป็น

เปรียญอยู่วัดระฆังโฆสิตาราม (วัดบางหว้าใหญ่) ได้เรียนพระปริยัติธรรมในสำนัก

ของหม่อมเจ้า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัต) และพระอมรเมธาจารย์ (เกษ) ขณะเป็น

พระเปรียญ หม่อมเจ้าชุมแสง ผู้เป็นลุง และพระโหราธิบดี (ชุม) ทั้ง ๔ นี้ เป็นพื้น

นอกจากนั้น ได้เรียนต่อกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) บ้าง สมเด็จพระวันรัต (แดง) บ้าง และอาจารย์อื่นๆ อีกมากมาย

สมัยรัชกาลที่ ๕ ได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๑๓ ในปีนั้นเอง

สามเณรเจริญเข้าแปลพระปริยัติธรรมที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทได้เป็นเปรียญ ๓ ประโยค ขณะอายุ ๑๔ ปี ต่อมาปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙ ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมเป็นครั้งที่ ๒ ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท แปลได้อีกประโยค ๑ รวมเป็น ๔ ประโยค

(ขณะเป็นสามเณร)

ถึงปีขาล พ.ศ. ๒๔๒๑ อายุครบอุปสมบท ทรงพระกรุณาโปรดให้อุปสมบทเป็นนาคหลวงในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีหม่อมเจ้าสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัต) เมื่อยังดำรงสมณศักดิ์เป็นหม่อมเจ้าพระพุทธุปบาทปิลันทน์เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่ออุปสมบทแล้วได้ฉายาว่า ญาณฉนฺโท ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมาอีกครั้งหนึ่งที่

พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาทเป็นครั้งที่ ๓ เมื่อปีมะเมีย พ.ศ.๒๔๒๕ แปลได้อีก

๑ ประโยค รวมเป็นเปรียญ ๕ ประโยค

ถึงปีกุน พ.ศ. ๒๔๓๐ เมื่อวันศุกร์ เดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ได้รับพระราชทานตั้งเป็นพระราชาคณะมีราชทินนามเป็นพิเศษว่า “พระราชานุพัทธมุนี” โปรดให้อาราธนาไปครองวัดโมลีโลกย์ เดิมได้รับพระราชทานตาลปัตรแฉกหักทองขวางอย่างพระราชาคณะสามัญ ต่อมา ถึงปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๓๖ เมื่อหม่อมเจ้าพระพุทธุปบาทปิลันทน์ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระธรรมเจดีย์ไปครองวัดพระเชตุพนฯ แล้ว จึงโปรดให้อาราธนากลับมาครองวัดระฆังโฆสิตาราม พระราชทานตาลปัตรพื้นแพรปักเลื่อมอย่างตาลปัตรหม่อมเจ้าซึ่งหม่อมเจ้าพระพุทธุปบาทปิลันทน์ทรงครองอยู่ก่อนนั้นให้ถือเป็น

เกียรติยศต่อมา อีกทั้งพระราชทานนิตยภัตเพิ่มขึ้นเสมอพระราชาคณะชั้นเทพด้วย

ในปีมะแม ตรงกับวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๔๓๙ ทรงตั้งเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่

“พระเทพเมธี” เมื่อ ร.ศ.๑๑๔ ต่อมาในปีขาล ร.ศ.๑๒๑ ทรงพระกรุณาโปรดให้เลื่อนเป็น “พระธรรมไตรโลกาจารย์” เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๔๕

สมัยรัชกาลที่ ๖ ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ

เจ้าคณะรองชั้น สุพรรณบัฏที่ “พระพิมลธรรม” เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ปีจอ

พ.ศ. ๒๔๕๓ โดยทรงพระราชดำริว่า พระธรรมไตรโลกาจารย์ เป็นเชื้อพระราชวงศ์ ได้ผนวชในพระพุทธศาสนามาหลายพรรษากาลมีความแตกฉานในพระปริยัติธรรม สอบไล่ได้เป็นเปรียญตั้งแต่ยังเป็นสามเณร ครั้นเมื่ออายุครบกำหนดที่ควรจะอุปสมบทแล้ว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้อุปสมบทในวัด

พระศรีรัตนศาสดาราม ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมได้อีก ๑ ประโยค รวม ๕ ประโยค มั่นคงในสมณปฏิบัติ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เป็นพระราชาคณะที่ พระราชานุพัทธมุนี แล้วโปรดให้ไปครองวัดโมลีโลกย์ ๗ พรรษา จนตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดระฆังฯ ว่างลง จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ย้ายมาครองวัดระฆังฯ ซึ่งเป็นที่สถิตเดิม พระราชทานพัดแฉกพื้นแพร ภายหลังได้เลื่อนตำแหน่งชั้นเทพและชั้นธรรมตามลำดับ นับว่าได้ทรงพระเมตตามาก พระธรรมไตรโลกาจารย์ เป็นผู้ชำนาญทางเทศนา มีโวหารกังวาลดีเป็นที่น่าฟัง ทั้งมีเสียงอันดี ขัดตำนานอ่านประกาศไพเราะน่านิยม เมื่อได้รับพระราชทานอาราธนาบัตรเป็นเจ้าคณะมณฑลตามพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ ก็ได้ปฏิบัติจัดการตามตำแหน่งหน้าที่เรียบร้อยสม่ำเสมอ นับว่าได้กระทำคุณประโยชน์ในทางทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและการศึกษา อีกทั้งได้เป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ของกุลบุตรเป็นอันมาก เป็นที่นิยมนับถือแห่งศาสนิกชนบริษัท ทั้งคฤหัสถ์บรรพชิต อนึ่ง เป็นราชวงศ์ผู้ดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่อันมีน้อยตัวหาได้ยาก จึงสมควรเพิ่มสมณศักดิ์ให้สูงยิ่งขึ้น จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนาเลื่อนพระธรรม

ไตรโลกาจารย์ เป็นพระราชาคณะตำแหน่งเจ้าคณะรอง มีนามตามจารึกในสุพรรณบัฏว่า

“พระพิมลธรรม มหันตคุณ วิบุลยปรีชาญาณนายก ตรีปิฏกคุณาลังการวิภูษิต

อุดรทิศคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสี สังฆนายก สถิต ณ วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร พระอารามหลวง เจ้าคณะรองฝ่ายเหนือ มีนิตยภัตราคาเดือนละ ๓๒ บาท  มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ ๘ รูป คือ พระครูปลัดสุวัฒนกวีคุณ วิบุลยธรรมคณิศร อุดรสังฆนายก

ธุรวาห มีนิตยภัตราคาเดือนละ ๘ บาท ๑ พระครูวินัยธร ๑ พระครูวินัยธรรม ๑

พระครูสรวิไชย ๑ พระครูไกรสรวิลาส ๑ พระครูธรรมบาล ๑ พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑ รวม ๘ รูป”

ต่อมา วันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๔ ได้รับพระราชทานสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์  ญาณอดุลยสุนทรนายก ตรีปิฎกวิทยาคุณ วิบุลยคัมภีรญาณสุนทร มหาอุดรคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี มหาสังฆนายก ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนเ หนือ  เจ้าประคุณสมเด็จอาพาธด้วยโรคปอด

มรณภาพเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๗๐ เวลา ๑๘.๐๕ น. อายุ ๗๐ ปี ๔๕ วัน

พรรษา ๔๙ ได้รับพระราชทานโกศมณฑปเป็นพิเศษสำหรับงานพระราชทานเพลิงศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง ในรัชชสมัยรัชกาลที่ ๗

๗. พระวิเชียรธรรมคุณาธาร (โสตถิ์ หรือ สด ป.๓) (๑๗ ปี, พ.ศ. ๒๔๓๗ – ๒๔๕๓)

ชาติภูมิไม่ปรากฏ ท่านเป็นลมถึงมรณภาพในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๓ รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๙

๘. พระสนิทสมณคุณ (เงิน) (๓ ปี, พ.ศ. ๒๔๕๔ – ๒๔๖๓)

ชาติภูมิอยู่จังหวัดพระตะบอง ซึ่งจังหวัดนี้แต่เดิมอยู่ในความปกครองของประเทศสยาม เกิดวันจันทร์ เดือน ๓ แรม ๗ ค่ำ ปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๕ บิดาชื่ออินทร์ มารดาชื่ออิ่ม อุปสมบทที่วัดนะรา พระธรรมวงศาจารย์ (คุง) เป็นพระอุปัชฌาย์ อุปสมบทแล้วมาศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักพระธรรมเจดีย์ (ทอง) วัดอรุณราชวราราม และ

ในสำนักพระยาธรรมปรีชา (ทิม), หลวงราชาภิรมย์ (ต่าย) และอาจารย์คง ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรม ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ครั้งหนึ่ง แต่สอบตกประโยค ๓

ต่อมาถึง พ.ศ.๒๔๓๔ ร.ศ.๑๑๐ ในรัชกาลที่ ๕ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์

เป็น “พระครูปัญญาคธาวุธ” และโปรดให้เป็นเจ้าคณะใหญ่ เมืองพระตะบอง

ถึง พ.ศ. ๒๔๔๐ พระราชทานสมณศักดิ์เลื่อนขึ้นเป็นพระราชาคณะในราชทินนามเดิม พ.ศ. ๒๔๔๓ โปรดให้เปลี่ยนราชทินนามเป็น “พระสนิทสมณคุณ” และโปรดให้เป็น

ผู้ช่วยเจ้าคณะมณฑลบูรพาถึง พ.ศ. ๒๔๕๐ ร.ศ. ๑๒๖ มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองบ้านเมือง จังหวัดพระตะบองตกไปอยู่ในความปกครองของรัฐบาลฝรั่งเศส พระสนิทสมณคุณจึงกลับเข้ามาอยู่วัดพระเชตุพนฯ จังหวัดพระนคร ระหว่างนี้ได้พระราชทานนิตยภัตเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ ๒๑ บาท ถึงปีจอ พ.ศ. ๒๔๕๔ สมัยรัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดให้ย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดโมลีโลกย์ครองวัดอยู่ ๑๐ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๔ – พ.ศ. ๒๔๖๓ พระสนิทสมณคุณ อาพาธเป็นโรคชรา มรณภาพลงเมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ สิริรวมอายุ ๖๘ ปี

๙. พระประสิทธิศีลคุณ (จ้อย ป.๔) (๓๖ ปี, พ.ศ. ๒๔๖๔ – ๒๔๙๒)

เกิดในสมัยรัชกาลที่ ๕ ณ วันเสาร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๕ ปีกุน พ.ศ. ๒๔๑๘ ร.ศ. ๙๔ ที่ตำบลบ้านบุญลือ อำเภอพยุหคีรี จังหวัดนครสวรรค์ บิดาชื่อหร่าย มารดาชื่อเต่า อุปสมบทที่วัดขวิด อำเภอน้ำซึม จังหวัดอุทัยธานี พระครูธรรมวินิจฉัย (นุ่น) เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วมาศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่ในสำนักวัดมหาธาตุ ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมในสนามหลวง ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นเปรียญ ๔ ประโยค ถึง พ.ศ. ๒๔๕๗ ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ “พระประสิทธิศีลคุณ” ภายหลังโปรดให้ย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๗ (บางแห่งว่า พ.ศ. ๒๔๖๓) ถึง พ.ศ. ๒๔๙๒

๑๐. พระครูสังวรโมลี (ชาลี อุตฺตโร ป.ธ.๓) (๒๒ ปี, พ.ศ. ๒๔๙๓ – ๒๕๑๔)

เกิดในรัชกาลที่ ๖ วันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๗ ที่อำเภอพนา จังหวัดอุบลราชธานี บิดาชื่อ ภู มารดาชื่อ เหม เป็นเจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๓ (บางแห่งว่า พ.ศ.๒๔๘๔) ได้ลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔

๑๑. พระรัตนมุนี (โสม ปญฺญาวุฑฺโฒ ป.ธ.๗) (๒๒ ปี, พ.ศ. ๒๕๑๗ – ๒๕๓๘)

เกิดเมื่อ วันจันทร์ ที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ ณ บ้านขามป้อม อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี มารดาชื่อสงค์ อุปสมบทเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ณ วัดบ้านขามป้อม โดยมีพระอธิการดวน คตฺตสีโล เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการมั่น เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการหนู เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส

วัดโมลีโลกยาราม เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๕ และเป็นเจ้าอาวาสในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ พระรัตนมุนี เป็นเจ้าสำนักเรียนรูปแรกของสำนักเรียนวัดโมลี

โลกยาราม ท่านได้อุตสาหะจัดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมจนมีผู้สอบบาลี นักธรรม ได้มากพอสมควร จนได้รับแต่งตั้งเป็นสำนักเรียนในปีพุทธศักราช ๒๕๓๔ จากนั้น ท่านก็ได้จัดการเรียนการสอนอย่างเข้มแข็งมาตามลำดับจนมีผู้สอบได้ทุก ๆ ปี แม้ไม่มากนัก

ก็ตาม ท่านได้บูรณะปฏิสังขรณ์เสนาสนะสงฆ์หลายอย่างเพียงพอแก่การรองรับ

พระภิกษุสามเณรในยุคนั้น

๑๒.พระพรหมกวี (วรวิทย์ คงฺคปญฺโญ, ธรรมวรางกูร (เพียสีนุย) ป.ธ.๘)

(๑๕ ปี, พ.ศ. ๒๕๔๐ – ๒๕๕๔)

เกิดเมื่อปีระกา ตรงกับวันจันทร์ ที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๖ เป็นบุตรของนายคำมา ธรรมวรางกูร (เพียสีนุย) และนางคำ ธรรมวรางกูร ณ บ้านหนองบัว หมู่ที่ ๙ ตำบลนนทรี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี อุปสมบทเมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๖ ณ วัดอินทรแบก อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี โดยมีพระวิสุทธิธรรมาจารย์ (ทรัพย์) วัดใหม่กรงทอง อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี เจ้าคณะจังหวัดปราจีนบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์

พระพรหมกวี ศึกษาพระปริยัติธรรม

แผนกบาลีเบื้องต้นที่จังหวัดปราจีนบุรี และสำนักเรียนวัดมหาธาตุ จนจบประโยค ป.ธ.๘ ท่านมีความชำนาญด้านกฎหมายคณะสงฆ์ ด้านงานสารบรรณ

ด้านสังฆกรรม และที่โดนเด่นที่สุด คือ ด้านกวีนิพนธ์ อาจกล่าวได้ว่า ท่านเป็นนักกวีที่เป็นพระสงฆ์ที่โดนเด่นที่สุดในยุคนี้ทีเดียว นอกจากนั้น ท่านยังได้ปฏิบัติภารกิจหน้าที่ทางการคณะสงฆ์หลายอย่าง กล่าวคือ เป็นเลขานุการเจ้าคณะภาค ๑๐

เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ยุวราชรังสฤษฎิ์ เป็นรองเจ้าคณะภาค ๑๐

เป็นพระอุปัชฌาย์วิสามัญ เป็นเจ้าคณะภาค ๑๐ ถึง ๕ สมัย (พ.ศ.๒๕๓๕ - ๒๕๕๔)

เป็นหัวหน้าพระธรรมทูตสายที่ ๖ ถึง ๔ สมัย เป็นเจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม รูปที่ ๑๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นต้น

ในด้านสาธารณูปการนั้น ถือว่าพลิกฟื้นเสนาสนะสงฆ์ เขตพุทธาวาส และอาณาบริเวณของวัดโมลีโลกยารามที่ทรุดโทรมอย่างหนัก เมื่อมาเป็นเจ้าอาวาสในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๗–พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้เริ่มบูรณะเสนาสนะสงฆ์ รวมทั้งเขตพุทธาวาส อย่างจริงจังทำให้มีเสนาสนะที่อยู่อาศัยสำหรับพระภิกษุสามเณรอย่างเพียงพอตามงบประมาณที่มีอยู่ นอกจากนั้น ท่านได้สร้างศูนย์การคณะสงฆ์ภาค ๑๐ ทั้งในส่วนอาณาบริเวณ อาคารหอประชุม เป็นต้น เพื่อใช้เป็นประโยชน์แก่การคณะสงฆ์และการพระศาสนาภาค ๑๐ นับเป็นศูนย์การคณะสงฆ์ระดับภาคแห่งแรกอย่างเป็นทางการ

ในด้านการศาสนศึกษา ท่านได้พลิกฟื้นสำนักเรียนวัดโมลีโลกยารามจากการที่มีผู้สอบบาลีได้เพียง ๒-๓ รูป เท่านั้น ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ เมื่อได้รับการพัฒนาและบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้มีผู้สอบได้มากถึง ๘๐-๙๐ รูป ในแต่ละปี ทำให้สำนักเรียน

ที่ทรุดโทรมแห่งนี้โดดเด่นขึ้นเป็นสำนักเรียนดีเด่นในส่วนกลาง มีผู้สอบบาลีได้มากที่สุดในกรุงเทพมหานครหลายสมัย มีพระภิกษุสามเณรได้รับทุนเล่าเรียนหลวงในโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย มากกว่า ๓๐ รูป มีพระภิกษุ-สามเณรสอบประโยค ป.ธ.๙ ในยุคของท่านจำนวน ๓๒ รูป แยกเป็นพระภิกษุ ๒๗ รูป สามเณร ๕ รูป นับได้ว่า ท่านมีผลงานที่ยิ่งใหญ่ฝากไว้แก่อนุชน ทั้งด้านการศาสนศึกษา การปกครอง การสาธารณูปการ การเผยแผ่ รวมทั้งบทกวีนิพนธ์ที่เป็นอมตะอีกมากมาย

ในด้านสมณศักดิ์ ท่านได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ

ชั้นสามัญที่ “พระศรีสุธรรมมุนี” เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ “พระราชเมธี” เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ “พระเทพปริยัติสุธี” เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ “พระธรรมปริยัติโสภณ” เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๕ และในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็น

พระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ เป็นกรณีพิเศษ ที่ “พระพรหมกวี” มรณภาพเมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ สิริรวมอายุได้ ๗๘ ปี ๕๘ พรรษา

๑๓. พระพรหมวชิโรดม (สุทัศน์ วรทสฺสี ป.ธ.๙, Ph.D.) (พ.ศ. ๒๕๕๕-ปัจจุบัน)

สถานะเดิมชื่อ สุทัศน์ นามสกุล ไชยะภา เกิดเมื่อปีกุน ตรงกับวันเสาร์

ที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ เป็นบุตรของนายสา ไชยะภา และนางจันทร์ ไชยะภา

ณ บ้านเลขที่ ๑๕๒ หมู่ที่ ๕ บ้านราษฎร์นิยม ตำบลโคกตูม อำเภอประโคนชัย

จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อจบประถมศึกษาปีที่ ๖ แล้วก็ได้บรรพชาครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๒๗ โดยมีพระครูวิบูลวุฒิคุณ (ฉลัน) อดีตเจ้าอาวาสวัดตาไก้พลวง และรองเจ้าคณะอำเภอนางรอง เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านจึงเข้าศึกษานักธรรมชั้นตรีที่สำนักศาสนศึกษาแห่งนี้ จากนั้นจึงเข้าศึกษาต่อนักธรรมชั้นโท-ชั้นเอก และพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ณ วัดกลาง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ภายใต้การปกครองของพระครูพิทักษ์ชินวงศ์ เจ้าคณะอำเภอนางรอง (สมัยนั้น)

ปีพุทธศักราช ๒๕๓๓ เมื่อสอบประโยค ป.ธ.๔ ได้แล้ว พระครูพิทักษ์ชินวงศ์จึงนำมาฝากพระราชเมธี

(วรวิทย์) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ

ยุวราชรังสฤษฎิ์ รองเจ้าคณะภาค ๑๐ และเจ้าคณะ ๘ ขณะนั้น เพื่อเข้าศึกษาต่อ ท่านมีวิริยะอุตสาหะในการศึกษาพระบาลีอย่างยวดยิ่งสามารถสอบผ่านชั้นประโยค ป.ธ.๕ ถึง ป.ธ.๙ โดยไม่สอบตกเลย

ธรรมเนียมวัดมหาธาตุนั้น เมื่อมีสามเณรนวกะเข้ามาอยู่อาศัยแต่ละปี จะต้องผ่านการอบรมกรรมฐาน การอบรมขนบธรรมเนียมประเพณีของวัดมหาธาตุ และบรรพชาใหม่ ท่านจึงได้บรรพชาอีกครั้งเมื่อวันที่ ๔ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๓

โดยมี พระสุเมธาธิบดี (บุญเลิศ ทตฺตสุทฺธิ ป.ธ.๘) อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ

ยุวราชรังสฤษฎิ์ อดีตเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร และอดีตกรรมการมหาเถรสมาคม

เป็นพระอุปัชฌาย์

เมื่อจบเปรียญธรรม ๖ ประโยค อายุครบอุปสมบทแล้ว ได้กลับไปอุปสมบทที่พัทธสีมาวัดกลาง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ในวันที่  ๒๑ มิถุนายน  พ.ศ. ๒๕๓๕  โดยมีพระราชเมธี (วรวิทย์) ต่อมาได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็น พระพรหมกวี อดีตเจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม, อดีตเจ้าคณะภาค ๑๐ และอดีตหัวหน้าพระธรรมทูตสายที่ ๖ เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระครูพิทักษ์ชินวงศ์ (บัณฑร ชินวํโส น.ธ.เอก, อภิธรรมบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดกลาง ตำบลนางรอง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์  และเจ้าคณะอำเภอนางรอง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ มีพระครูธีรคุณาธาร (สุพจน์ โชติญาโณ ป.ธ.๕, น.ธ.เอก, Ph.D.) ต่อมา ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ

ที่ พระเทพปริยัตยาจารย์ เจ้าอาวาสวัดกลาง (พระอารามหลวง) ตำบลในเมือง

อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ และเจ้าคณะจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

เมื่ออุปสมบทแล้ว ก็ศึกษาต่อจนจบ ป.ธ.๙ ที่สำนักเรียนวัดมหาธาตุก็ได้เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี สาขาปรัชญา ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และปริญญาโท สาขาศาสนาเปรียบเทียบ ที่มหาวิทยาลัยมหิดล และปฏิบัติหน้าที่ครูสอนในมหาธาตุวิทยาลัยสำนักเรียนวัดมหาธาตุ จนถึงปีพุทธศักราช ๒๕๔๐ ได้เป็นพระอนุจรติดตามพระเทพปริยัติสุธี (วรวิทย์) ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ไปอยู่วัดโมลีโลกยาราม นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในระยะแรกทำหน้าที่เป็นรองอาจารย์ใหญ่ (พ.ศ. ๒๕๔๑-๒๕๔๓) และอาจารย์ใหญ่ (พ.ศ. ๒๕๔๔-๒๕๖๔) ตามลำดับ ช่วยพระอุปัชฌาย์สอนบาลีและนักธรรม รวมทั้งบูรณปฏิสังขรณ์วัดโมลีโลกยารามตามความสามารถ จนทำให้สำนักเรียนวัดโมลีโลกยารามภายใต้การนำของพระเทพปริยัติสุธี (วรวิทย์) มีพระภิกษุสามเณรสอบบาลีได้ ๕ อันดับแรกของประเทศ และเป็นอันดับ ๑ ของกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน นอกจากจะทำงานบริหารการศึกษาของสำนักเรียนแล้ว ท่านยังมีอุตสาหะศึกษาต่อจนจบระดับปริญญาเอก สาขาวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ในด้านสมณศักดิ์ ปี

โอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในการทรงตั้งเปรียญธรรม 9 ประโยค และเปรียญธรรม 6 ประโยค และผ้าไตรพระราชทาน ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร

เมื่อพระพรหมกวี (วรวิทย์) ได้มรณภาพลงในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๔

ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส

ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะภาค ๑๐ เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๕ เมื่อได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสแล้ว ก็ได้ตั้งปณิธานสานต่อเจตนารมณ์ของบูรพาจารย์ของสำนัก ได้จัดการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและแผนกบาลีอย่างเข้มแข็ง ทำให้มีผู้สอบได้มากกว่า ๑๐๐ - ๓๐๐ กว่ารูป ในแต่ละปี นับเป็นผลงานอันยิ่งใหญ่ในชีวิต

สรุปด้านการปกครองนั้น ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส (พ.ศ. ๒๕๕๕-ปัจจุบัน) ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะเขตบางกอกใหญ่ (พ.ศ. ๒๕๕๗) รองเจ้าคณะภาค (พ.ศ. ๒๕๕๘) และดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค ๑๐ (พ.ศ. ๒๕๖๕-ปัจจุบัน)

ด้านการสาธารณูปการ ได้สืบสานต่อยอดจากพระพรหมกวี ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะสงฆ์ เขตพุทธาวาส รวมทั้งโบราณสถานโบราณวัตถุหลายรายการ พอสรุปได้ดังนี้  รายการบูรณปฏิสังขรณ์ คือ หอพระไตรปิฎกสมัยรัชกาลที่ ๓ หอระฆังสมัยรัชกาลที่ ๓ สระน้ำโบราณ หอสวดมนต์ หอกลาง และกุฎีเจ้าอาวาสที่รัชกาลที่ ๔ สร้างถวาย และมีโครงการจะบูรณปฏิสงขรณ์พระอุโบสถ พระวิหาร และหอสมเด็จ รวมทั้งเขตพุทธาวาสและหมู่กุฎีสงฆ์ทั้งหมด รายการก่อสร้าง คือ อาคารโมลีปริยัตยากร อาคารที่พักพระภิกษุสามเณร ๔ ชั้น (อาคาร ๔๘ ปี พระเทพปริยัติโมลี) อาคารโรงเรียนพระปริยัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ และมีโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานของวัดโมลีโลกยาราม และ อาคารหอฉันวัดโมลีโลกยาราม ตามลำดับ

ด้านการศาสนศึกษา ได้สืบสานปณิธานของพระอุปัชฌาย์ บริหารจัดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลีอย่างเข้มเข็ง ทำให้มีพระภิกษุสามเณรสอบบาลีได้เป็นประวัติการณ์ สร้างปรากฎการณ์ด้านศึกษาภาษาบาลีที่ควรจารึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ ดังนี้  (๑) มีพระภิกษุสามเณรสอบบาลีได้ ๑๐๐ รูปขึ้นไป ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในส่วนกลางกรุงเทพมหานคร (๒) มีพระภิกษุสามเณรสอบพระบาลีได้เป็นอันดับที่ ๑ ของประเทศตั้งแต่ปี ๒๕๕๙-ปัจจุบัน (๒๕๖๕) (๓) มีพระภิกษุสามเณรสอบประโยค ป.ธ.๙ ได้ในปีเดียว (พ.ศ. ๒๕๖๕) จำนวน ๑๕ รูป ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย ตั้งแต่ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสและเจ้าสำนักเรียน มีพระภิกษุสามเณรสอบประโยค ป.ธ.๙ ได้รวม ๕๐ รูป แยกเป็นพระภิกษุ ๓๙ รูป สามเณร ๑๑ รูป

นอกจากนั้น ท่านยังมีหน้าที่ด้านการศึกษาสงฆ์หลายอย่าง เช่น เป็นครูสอนบาลีในโรงเรียนพระปริยัติธรรมส่วนกลางของคณะสงฆ์ เป็นรองแม่กองบาลีสนามหลวง เป็นกรรมการร่าง-เฉลยข้อสอบบาลีสนามหลวง เป็นต้น

การศึกษาและการก่อสร้างในอดีต

การศึกษาพระบาลีในยุคนั้นเป็นการศึกษาตามแบบโบราณ คือ หัดเขียนหัดอ่าน เล่าเรียนสูตรมูลกัจจายน์และเรียนพระคัมภีร์เป็นต้น ต่อมาการศึกษาก็เปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย

ความเป็นไปของวัดนี้ ในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๔ สันนิษฐานว่ามีความเจริญมากทั้งการศาสนศึกษาและเสนาสนะสงฆ์ ด้วยเหตุผล ดังนี้

๑. ด้านการศึกษาที่เกี่ยวกับราชวงศ์ในยุคสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน)

การศึกษามีหลักฐานปรากฏว่า พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ เมื่อยังทรงพระเยาว์ได้ทรงศึกษาอักษรสมัยเบื้องต้นในสำนักวัดนี้ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น ด้วยว่า การศึกษาสำหรับกุลบุตรในสมัยนั้น โดยมากเรียนกันตามวัดหรือตามสกุลของตน เพราะไม่มีโรงเรียนแพร่หลายเหมือนปัจจุบันนี้ เมื่อผู้ปกครองมีความประสงค์จะให้บุตรของตนศึกษาศิลปวิทยา ก็พาไปฝากเป็นศิษย์วัดโดยมาก เพราะฉะนั้น ในยุคนั้น สำนักเรียนวัดโมลีโลกยาราม จึงเป็นสถานที่ศึกษาสำคัญแห่งหนึ่งซึ่งเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยในรัชกาลที่ ๒ ให้เป็นสถานที่ศึกษาของพระราชโอรสและลูกเจ้านายสมัยนั้น เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่ง สำนักแห่งนี้มีนักปราชญ์ผู้เป็นอดีตเจ้าอาวาสรูปที่ ๒ ซึ่งได้แก่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) เป็นพระมหาเถระผู้ทรงความรู้เชี่ยวชาญพิเศษแทบทุกด้าน โดยเฉพาะด้านภาษาบาลี ด้านวรรณกรรม ด้านขนบธรรมเนียมประเพณี ภาษาขอมรวมทั้งอักษรไทย วิชาโหราศาสตร์ เป็นต้น เป็นที่เลื่องลือว่าเป็นหนึ่งไม่มีสองในยุคนั้นทีเดียว เป็นพระมหาเถระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ทรงคุณด้านวิปัสสนา นับว่าเก่งทั้งด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระ เป็นที่เจริญพระราชศรัทธาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ จนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยดังกล่าว

๒. ด้านการศึกษาพระบาลีในยุคสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม ป.๙)

ในด้านการศึกษาพระบาลีในยุครัชกาลที่ ๒-๓ นั้น ยังเป็นการสอบแบบแปลด้วยปากเหมือนสมัยกรุงศรีอยุธยาอยู่ สำนักเรียนวัดโมลีโลกย์นับว่ามีชื่อเสียงโด่งดังพอสมควร เนื่องจากมีนักปราชญ์ฝ่ายบาลี มีความรู้ถึงเปรียญ ๙ ประโยค ผู้เป็นอดีตเจ้าอาวาสรูปที่ ๓ นั่น คือ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) ท่านมีบทบาทด้านการศาสนศึกษาของคณะสงฆ์ไทยอย่างยวดยิ่ง ได้รับไว้วางพระราชหฤทัยในรัชกาลที่ ๓ ให้เป็นคณะกรรมการสอบพระบาลีสนามหลวง ในพระบรมมหาราชวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้เป็นหนึ่งในกรรมการสอบพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ขณะทรงผนวช นอกจากนั้น ท่านยังเปิดสอนพระบาลีในสำนักวัดโมลีโลกย์อีกด้วย มีลูกศิษย์หลายท่าน เช่น พระธรรมเจดีย์ (อยู่ ป.๔) พระนิกรมมุนี (ชู ป.๘) เป็นต้น

๓. ด้านการก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะสงฆ์

เสนาสนะสงฆ์ ตลอดถึงพระอุโบสถและพระวิหารในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์นั้น

ได้รับการปฏิสังขรณ์ใหม่ สมัยกรุงธนบุรี วัดนี้ไม่มีพระสงฆ์อยู่ประจำ เนื่องจากเขตพื้นที่วัดได้รวมเข้าอยู่ในเขตพระราชวัง ถึงรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

โปรดให้พระราชโอรส คือ รัชกาลที่ ๒ ได้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นหลายอย่าง แล้วโปรดให้พระสงฆ์มาอยู่จำพรรษา  ทรงตั้งเจ้าอาวาสให้เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่พระเทพโมลี (ศรี) ต่อมา รัชกาลที่ ๓ ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ทั่วทั้งพระอารามอีกครั้งหนึ่ง ในยุคนี้ นับว่าเจริญรุ่งเรืองมากเพราะได้รับการปฏิสังขรณ์จนตลอดทั่วถึง ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โปรดกระทำผาติกรรมเปลี่ยนเสนาสนะสงฆ์ ทรงสร้างกุฎีตึกเจ้าอาวาส หอสวดมนต์ หอกลาง และทรงซ่อมถาวรวัตถุอีก แม้ในรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็โปรดให้ปฏิสังขรณ์หอพระไตรปิฏกเป็นต้นอีกครั้งหนึ่ง นอกนี้ไม่ปรากฏว่าใครได้ปฏิสังขรณ์อะไรอีก แต่ต่อจากนี้ไป เสนาสนะก็ชำรุดทรุดโทรมลงบ้างแต่ไม่สู้มากนัก ครั้งถึงรัชกาลที่ ๖ ในยุคที่พระสนิทสมณคุณ (เงิน) ปกครองวัดได้จัดการปฏิสังขรณ์เสนาสนะขึ้นหลายอย่าง แต่จะนับว่าเจริญยังไม่ได้ ถึงยุคพระประสิทธิสีลคุณ (จ้อย) นับว่ามีความเจริญมากทั้งเสนาสนะและการศึกษา ซึ่งแต่ก่อนการศึกษาพระปริยัติธรรมยังไม่มีก็ได้จัดให้มีขึ้นส่วนเสนาสนะตลอดจนถนนและพื้นที่ของวัดแห่งใดชำรุดหรือไม่เรียบร้อย ก็ได้ปฏิสังขรณ์ทำนุบำรุงขึ้น จนถึงได้ทำเขื่อนคอนกรีตที่หน้าวัดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ มาถึงยุคพระเทพปริยัติสุธี (วรวิทย์) ซึ่งต่อมา ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นที่พระพรหมกวี ได้ปรับปรุงเสนาสนะสงฆ์ครั้งใหญ่ทุกหลัง โดยดีดกุฎีทำเป็นสองชั้นเพื่อรองรับพระภิกษุสามเณรที่เข้ามาเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและบาลีจำนวนมาก

ในยุคพระเมธีวราภรณ์ (ปัจจุบัน : พระธรรมราชานุวัตร) (สุทัศน์ ป.ธ.๙, Ph.D.)

ได้จัดการศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลีอย่างเข้มแข็ง จนมีผู้สอบบาลีได้เป็นอันดับ ๑ ของประเทศ มีเกียรติคุณปรากฏต่อสาธารณชน ควบคู่กับการบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถานหลายแห่ง โดยร่วมกับกรมศิลปากรและสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ บูรณปฏิสังขรณ์หอพระไตรปิฎกสมัยรัชกาลที่ ๓, กุฎีเจ้าอาวาสและหอสวดมนต์สมัยรัชกาลที่ ๔ หอระฆังสมัยรัชกาลที่ ๓ สระน้ำโบราณ และมีโครงการจะบูรณปฏิสังขรณ์เขตสังฆาวาสและเขตพุทธาวาสทั้งหมด นอกจากนั้น ได้ก่อสร้างอาคารโมลีปริยัติยากร ซึ่งเป็นอาคารอเนกประสงค์ ๒ ชั้น กว้าง ๙ เมตร ยาว ๖๐ เมตร อาคารที่พักพระภิกษุสามเณร (อาคาร ๔๘ ปี พระเทพปริยัติโมลี) เป็นอาคาร ๔ ชั้น อาคารโรงเรียนพระปริยัติธรรม

และมีโครงการก่อสร้างอาคารที่พักพระภิกษุสามเณรเพิ่มเติม อาคารหอฉัน อาคาร

ห้องสมุด เป็นต้น เพื่อรองรับจำนวนพระภิกษุสามเณรที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร หรือชื่อเดิมว่า วัดท้ายตลาด ตั้งอยู่บริเวณพระราชวังเดิม แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร เป็นวัดที่สร้างในสมัยอยุธยา ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง และเหตุที่เรียกว่าวัดท้ายตลาดเนื่องจากอยู่ต่อจากตลาดเมืองธนบุรี ปัจจุบันชาวบ้านยังนิยมเรียกชื่อนี้อยู่

ในสมัยธนบุรี วัดนี้เป็นวัดในเขตพระราชฐาน จึงไม่มีพระสงฆ์อยู่ตลอดช่วงรัชกาล ในรัชกาลที่ 3 ได้รับการปฏิสังขรณ์ใหม่ทั่วทั้งพระอาราม และทรงเปลี่ยนนามใหม่ว่า "วัดโมลีโลกยสุธาราม" ภายหลังมาเรียกกันว่า "วัดโมลีโลกยาราม" วัดโมลีโลกยารามเป็นสำนักเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีที่มีผู้สอบได้เปรียญธรรมมากเป็นระดับต้นๆ ของประเทศ สิ่งก่อสร้างสำคัญประกอบด้วย[2]

โบราณสถาน-โบราณวัตถุ

[แก้]
  1.   พระอุโบสถ . มีลักษณะทรงไทยยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ หลังคามุขลด ๓ ชั้น มีช่อฟ้าใบระกาไม้สัก ลงรักปิดกระจก ภายในผนังและเพดานมีภาพเขียนทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ประตูและหน้าต่างแกะสลักเป็นลายกนก ลงรักปิดทองสวยงาม ยาว ๒๕ เมตร กว้าง ๙.๕๐ เมตร พระอุโบสถหลังนี้ สมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง หรือสมเด็จพระอมรินทราบรมราชชนนี พระราชมารดา ในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าฉิม กรมหลวงอิศรสุนทร (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒) ได้ทรงสร้างขึ้นโดยทรงผูกพัทธสีมา ณ เวลาบ่าย วันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเส็ง ตรีศก จุลศักราช ๑๑๘๓ ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงบูรณะให้สวยงามอีกครั้ง พร้อมทั้งโปรดให้ประดิษฐานตราไอยราพรตซึ่งเป็นตราแผ่นดินประจำประองค์สมัยนั้นไว้ที่หน้าบันพระอุโบสถอีกด้วย
  2. พระวิหาร พระวิหารเป็นปูชนียสถานที่นับว่าเก่าแก่ที่สุดของวัด ตั้งอยู่ตรงหน้าพระอุโบสถหันหน้าลงสู่ลำคลองบางกอกใหญ่ สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาเมื่อวัดนี้ได้ถูกรวมเข้าเป็นเขตพระราชฐานพระราชวังธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงใช้เป็นสถานที่เก็บเกลือ เพราะสมัยนั้นเกลือ เป็นยุทธปัจจัยที่มีความสำคัญมากในการถนอมอาหาร สามารถเก็บอาหารไว้ได้นาน จนถึงมีคำกล่าวกันว่า “หากจะโจมตีบ้านเมือง จะต้องทำลายฉางเกลือ คลังเสบียง และคลังแสงให้ได้” จึงเรียกกันว่า “พระวิหารฉางเกลือ” จนปัจจุบัน ซึ่งถือว่ามีหนึ่งเดียวในสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ วิหารหลังนี้มีลักษณะไทยผสมจีน กว้าง ๘.๗๕ เมตร ยาว ๑๙.๗๕ เมตร หลังคามุขลด ๒ ชั้น มุงกระเบื้องเคลือบดินเผา มีช่อฟ้าใบระกาปูนปั้น ภายในมีฝาผนังก่อด้วยอิฐฉาบปูนกั้นเป็น ๒ ตอน ตอนหน้า กว้างใหญ่โอ่โถง ตรงกลางมีฐานชุกชีก่อด้วยอิฐฉาบปูนเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยต่าง ๆ กว่า ๒๐ องค์ บนฐานชุกชีตอนหลังมีพระพุทธรูปปั้นขนาดใหญ่ ๑ องค์ และพระพุทธรูปปั้นขนาดย่อมอีกหลายองค์ นัยว่าเป็นพระพุทธรูปโบราณสันนิษฐานว่าหล่อขึ้นตั้งแต่สมัยยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์หลายวาระ ตอนหลัง เป็นห้องเล็กมีพระพุทธรูปปางสมาธิขนาดใหญ่ นามว่า “พระปรเมศ” ผินพระพักตร์ไปทางพระอุโบสถ และมีรูปหล่อพระอัครสาวกทั้งสอง ผนังและเพดานเขียนลวดลายงดงาม สำหรับผนังทั้งหมดฉาบปูน ประตู และหน้าต่างทุกช่องเขียนลวดลายรดน้ำงดงาม เพดานเขียนลวดลายเป็นกลุ่มดาว พระอุโบสถและพระวิหาร ทั้ง ๒ นี้มีกำแพงแก้วล้อมรอบ กำแพงสูงประมาณ ๔ ศอก นับว่า เป็นพระวิหารที่มีลักษณะพิเศษที่หาดูได้ยากยิ่งนัก
  3. หอสมเด็จ หอสมเด็จนี้ พระบาทเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงสร้างขึ้น แบ่งเป็น ๒ ชั้น คือชั้นฐานและชั้นตัวหอ ชั้นฐาน กว้าง ๖.๕๐ เมตรยาว ๒๑.๕๐ เมตร เป็นฐานรับหอสมเด็จและพระเจดีย์ทรงลังกา ๔ องค์ มีบันไดขึ้นลง ๒ ทาง ด้านล่างแบ่งเป็นช่อง ๆ แต่ละช่องมีรูปปั้นทหารฝรั่งแบกฐานไว้จำนวนมาก ส่วน ชั้นตัวหอ  ประกอบด้วยหอสมเด็จและพระเจดีย์ทั้ง ๔ องค์ ซึ่งสันนิษฐานกันว่า พระเจดีย์ทั้งสองนี้บรรจุพระเมาฬี (ผม) ของรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ เป็นที่มาของชื่อวัดนี้ เฉพาะตัวหอสมเด็จกว้าง ๔.๐๐ เมตร ยาว ๘.๖๐ เมตร เป็นตึกทรงไทย ภายในประดิษฐานรูปหล่อของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) ผู้เป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษรเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ และเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์เมื่อทรงผนวช โดยโปรดให้หล่อขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๖ เพื่อเป็นอาจริยบูชา และเป็นที่สักการบูชาของพระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชบริพาร และประชาชนทั่วไป หลังคาของหอสมเด็จมุงกระเบื้องเคลือบ ประตูและหน้าต่างเขียนภาพลายรดน้ำงดงาม แม้ปัจจุบันจะลบเลือนไปบ้าง นับเป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่ง นอกจากนั้น ยังมีหอเล็กติดต่อกัน ยื่นเข้ามาภายในลานพระอุโบสถก่อด้วยอิฐฉาบปูนเหมือนกัน เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลองโบราณ สร้างไว้เป็นที่สักการะของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย
  4. หอพระไตรปิฎก หอพระไตรปิฎกหรือหอไตร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดให้สร้างขึ้นเป็นอาคารไม้สักทรงไทย ใต้ถุนสูง กว้าง ๗.๕๐ เมตร ยาว ๑๑.๕๐ เมตร หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ ใช้ปูนปั้นรูปเจดีย์แทนช่อฟ้า ประตู หน้าต่าง และผนังด้านในเขียนภาพลายรดน้ำสวยงาม แต่เนื่องจากไม่ได้รับการบูรณะเป็นเวลานาน ลายรดน้ำ ก็เลือนลางไป ต่อมา รัชกาลที่ ๕ โปรดให้บูรณะขึ้นอีกครั้งสมัยพระธรรมเจดีย์ (อยู่) เป็นเจ้าอาวาส เดิมทีช่อฟ้าหางหงส์หอไตรนี้คงเป็นแบบไทยยุคต้นรัตนโกสินทร์ทั่วไป แต่ที่เห็นเป็นรูปเจดีย์แทน สันนิษฐานว่า ในคราวซ่อมสมัยพระธรรมเจดีย์ (อยู่) ได้ทำเป็นเจดีย์ลอมฟางเล็ก ๆ ปั้นด้วยปูนไว้ที่ปั้นลมและชายปั้นลม แทนช่อฟ้าหางหงส์ โดยประสงค์ให้เป็นนิมิตในราชทินนามของท่าน ต่อมา พระรัตนมุนี (โสม ป.ธ.๗)อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ ๑๑ ก่ออิฐเสริมชั้นล่างทำเป็นห้องจึงทำให้เสียทรงเดิมไป ต่อมา ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๖ พระเมธีวราภรณ์ (สุทัศน์ ป.ธ.๙) (ปัจจุบัน พระพรหมวชิโรดม) เจ้าอาวาสรูปที่ ๑๓ ร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และกรมศิลปากรได้ดำเนินการบูรณะหอพระไตรปิฎกแห่งนี้จนแล้วเสร็จสวยงาม
  5. หอระฆังโบราณ หอระฆังโบราณนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างขึ้นมีลักษณะกะทัดรัดด้านบนเป็นปูนปั้นมีลักษณะไทยผสมจีนมีบันไดขึ้นด้านเดียว ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๕ พระธรรมราชานุวัตร เจ้าอาวาสรูปที่ ๑๓ ร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ดำเนินการบูรณะปฏิสังขรณ์จนแล้วเสร็จสวยงาม โบราณสถาน และโบราณวัตถุบางอย่าง ได้สูญหายและผุพังไปตามกาลเวลา คือ ศาลาการเปรียญสร้างด้วยไม้จริงล้วน ยาว ๑๕ วา กว้าง ๕ วา หลังคามุขลด ๒ ชั้น มุงกระเบื้องไทย มีช่อฟ้าใบระกา พระบรมรูป หล่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องยศจอมพลทหารบก พระพุทธรูป และตุ๊กตาจีน เป็นต้น
  6. พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปหล่อสำริด ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๔ ศอกคืบ มีพุทธลักษณะงดงามมาก จะสร้างขึ้นพร้อมกับพระอุโบสถหรือมีมาแต่เดิม แล้วนำมาประดิษฐานไว้หลังสร้างพระอุโบสถยังไม่ปรากฏหลักฐาน พระพรหมกวี (วรวิทย์ ป.ธ.๘) เจ้าอาวาสรูปที่ ๑๒ ได้ถวายนามว่า “พระพุทธโมลีโลกนาถ” เป็นพระพุทธรูปโบราณ ศักดิ์สิทธิ์ ทรงพุทธานุภาพ เป็นปูชนียวัตถุเป็นที่สักการะของพระเจ้าแผ่นดิน พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร และเหล่าราษฎรมาตั้งแต่ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์
  7. รูปหล่อสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๒ เป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษรเบื้องต้นแด่พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แทบทุกพระองค์ เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ในรัชกาลที่ ๓ เป็นที่เคารพศรัทธาของพระเจ้าแผ่นดิน พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพารมาก เมื่อมรณภาพแล้ว รัชกาลที่ ๓ โปรดให้หล่อรูปเหมือนของท่านขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๖ เป็นรูปหล่อสำริดนั่งขัดสมาธิมีขนาดเท่าองค์จริง ประดิษฐานอยู่บนแท่นซึ่งมีคำจารึกใต้ฐานว่า “ศุภมัสดุ พระพุทธศักราชล่วงแล้วสองพันสามร้อยแปดสิบหกพระวษา ณ วันจันทร์ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๙ ปีเถาะ เบญจศก พระบาทสมเด็จบรมธรรมฤกมหาราชาธิราชรามาธิบดีบรมนารถบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการ ณ พระบัณฑูรสุรสีหนาท ดำรัสสั่งหลวงกัลมาวิจิตร เจ้ากรมช่างปั้นขวา และอาจารย์ฉิม กรมราช-บัณฑิตย์ ให้จำลองหล่อพระพุทธรูปสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ญาณอดุลย์สุนทรนายก ติปิฏกธรา มหาคณฤษร บวรสังฆาราม คามวาสีบพิตร อันสถิต ณ พุทไธยสวรรยาวาศ วรวิหาร ไว้เป็นที่สักการบูชาแก่สานุศิษย์ทั้งปวงสืบไป” นอกจากนั้น ยังโปรดให้หล่อพระสงฆ์หมอบอยู่ด้านข้างอีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อเป็นที่สักการบูชาของพระองค์เมื่อเสด็จมาทอดผ้าพระกฐิน ณ พระอารามนี้ธรรมาสน์ลายทอง ธรรมาสน์ลายทองนี้ เป็นเครื่องสังเค็ดพระราชทานในงานพระราชทานเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๕๓. ธรรมาสน์ปาติโมกข์ คัมภีร์ภิกขุปาติโมกข์ ธรรมาสน์นี้ได้รับพระราชทานพร้อมตู้ และพระคัมภีร์ภิกขุปาติโมกข์ เป็นเครื่องสังเค็ดในงานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ สุขุมขัตติยกัลยาวดีกรมหลวงศรีรัตนโกสินทร พระราชธิดาพระองค์ ที่ ๑๙ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีพระอัครราชเทวี เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๖๖
  8. ตู้เทียนปาฏิโมกข์ ตู้เทียนนี้เป็นเครื่องสังเค็ดงานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามาลินีนภดารา ศิรินิภาพรรณวดีกรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา พระราชธิดาองค์ที่ ๕๕ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ซึ่งเป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลดาวัลย์ กรมหมื่นภูมินทรภักดีและเจ้าจอมมารดาจีนในปีพุทธศักราช ๒๔๖๗

ลำดับเจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร

[แก้]

วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร มีเจ้าอาวาสมาแล้วทั้งสิ้น 13 รูป ได้แก่[3]

ลำดับ เจ้าอาวาส วาระ (พ.ศ.)
1 พระพุทธโฆษาจารย์ (ศรี) 2325 — 2352
2 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) 2353 — 2374
3 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) 2375 — 2393
4 พระธรรมไตรโลก (รอด) 2394 — 2409
5 พระธรรมเจดีย์ (อยู่) 2410 — 2429
6 พระราชานุพัทธมุนี (ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร) 2430 — 2436
7 พระวิเชียรธรรมคุณาธาร (โสตถิ์ หรือ สด) 2437 — 2453
8 พระสนิทสมณคุณ (เงิน) 2454 — 2463
9 พระประสิทธิศีลคุณ (จ้อย) 2464 — 2492
10 พระครูสังวรโมลี (ชาลี อุตฺตโร) 2493 — 2514
11 พระรัตนมุนี (โสม ปญฺญาวุฑฺโฒ) 2515 — 2539
12 พระพรหมกวี (วรวิทย์ คงฺคปญฺโญ) 2540 — 2554
13 พระพรหมวชิโรดม (สุทัศน์ วรทสฺสี) 2555 — ปัจจุบัน


อ้างอิง

[แก้]
  1. "สุขาภิยาจนคาถา". วัดโมลีโลกยาราม ราชวรวิหาร (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  2. บันทึก เรื่อง สภาพวัดโมลีโลกยาราม.พระเทพปริยัติสุธี (1 สิงหาคม 2540). https://www.watmoli.org/index.php?url=about&code=reccord_wat&cat=A
  3. ลำดับเจ้าอาวาส

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

13°44′28″N 100°29′22″E / 13.741209°N 100.489578°E / 13.741209; 100.489578