ข้ามไปเนื้อหา

เฮาหุน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เฮาหุน (หู เฟิ่น)
胡奮
มหาขุนพลพิทักษ์ทัพ
(鎮軍大將軍 เจิ้นจฺวินต้าเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 273 (273) – ค.ศ. 288 (288)
กษัตริย์สุมาเอี๋ยน
รองราชเลขาธิการฝ่ายขวา
(尚書右僕射 ช่างชูโย่วผูเช่อ)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 273 (273) – ค.ศ. 288 (288)
กษัตริย์สุมาเอี๋ยน
นายทหารม้ามหาดเล็ก
(散騎常侍 ซ่านฉีฉางชื่อ)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. 273 (273)
กษัตริย์สุมาเอี๋ยน
ผู้พิทักษ์ทัพ (護軍 ฮู่จฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. 273 (273)
กษัตริย์สุมาเอี๋ยน
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดไม่ทราบ
อำเภอเจิ้น-ยฺเหวียน มณฑลกานซู่
เสียชีวิตค.ศ. 288
บุตรหู ฟาง (บุตรสาว)
บุตรชาย 1 คน
บุพการี
ญาติหู กว่าง (พี่ชาย)
เฮาเหลก (น้องชาย)
หู ฉี (น้องชาย)
พี่ชายหรือน้องชายอีก 2 คน
อาชีพขุนพล
ชื่อรองเสฺวียนเวย์ (玄威)
สมัญญานามจฺว้าง (壯)
บรรดาศักดิ์หยางเซี่ยเซี่ยนโหว (陽夏縣侯)

เฮาหุน[1] หรือ ห่อหุน[2] (เสียชีวิต ค.ศ. 288) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า หู เฟิ่น (จีน: 胡奮; พินอิน: Hú Fèn) ชื่อรอง เสฺวียนเวย์ (จีน: 玄威; พินอิน: Xuánwēi) เป็นขุนพลของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน ภายหลังเป็นขุนพลของราชวงศ์จิ้นตะวันตก

ประวัติช่วงต้น

[แก้]

เฮาหุนเป็นชาวอำเภอหลินจิง (臨涇縣 หลินจิงเซี่ยน) เมืองฮันเต๋ง (安定郡 อานติ้งจฺวิ้น) ซึ่งปัจจุบันคืออำเภอเจิ้น-ยฺเหวียน มณฑลกานซู่ เฮาหุนเป็นบุตรชายของอ้าวจุ๋น (胡遵 หู จุน) ผู้เป็นขุนพลทหารม้าและรถรบ (車騎將軍 เชอฉีเจียงจฺวิน)[3] เฮาหุนเป็นพี่ชายของเฮาเหลก (胡烈 หู เลี่ย)

เฮาหุนมีบุคลิกเปิดเผยและกระจ่างแจ้ง ชำนาญการวางกลยุทธ์ ชื่นชอบในการเรื่องการทหารตั้งแต่วัยเด็ก[4]

การรับราชการกับวุยก๊ก

[แก้]

ในปี ค.ศ. 238 ในช่วงที่สุมาอี้ยกทัพบุกเลียวตั๋ง (遼東 เหลียวตง) เพื่อปราบกองซุนเอี๋ยน เฮาหุนได้ติดตามสุมาอี้ในฐานะข้ารับใช้ สุมาอี้ปฏิบัติต่อเฮาหุนเป็นอย่างดี[5] หลังกลับมาจากการปราบกองซุนเอี๋ยนได้สำเร็จ เฮาหุนได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกองพัน (校尉 เซี่ยวเว่ย์) ต่อมาไปเป็นข้าหลวงมณฑล (刺史 ชื่อฉื่อ) ของมณฑลชีจิ๋ว และได้รับบรรดาศักดิ์หยางเซี่ยจื่อ[6]

ในปี ค.ศ. 255 เกียงอุยขุนพลแห่งจ๊กก๊กรัฐอริของวุยก๊กปิดล้อมอองเก๋งข้าหลวงมณฑลยงจิ๋วในยุทธการที่เต๊กโตเสีย (狄道 ตี้เต้า) เฮาหุนร่วมกับขุนพลต้านท่าย, เตงงาย และหวาง มี่ (王秘) นำกำลังทหารไปช่วยอองเก๋ง ในที่สุดเกียงอุยก็ล่าถอยไป

ในปี ค.ศ. 257 จูกัดเอี๋ยนขุนพลวุยก๊ก่อกบฏที่อำเภอฉิวฉุน (壽春 โช่วชุน; ปัจจุบันคืออำเภอโช่ว นครลู่อาน มณฑลอานฮุย) เพื่อต่อต้านผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สุมาเจียว ในปีถัดมาสุมาเจียวเข้าตีฉิวฉุนได้สำเร็จ จูกัดเอี๋ยนพยายามตีฝ่าวงล้อมทางประตูเล็ก เฮาหุนซึ่งเวลานั้นมีตำแหน่งนายกองพัน (司馬 ซือหม่า) ของสุมาเจียวยกพลเข้าโจมตีจูกัดเอี๋ยน สามารถสังหารจูกัดเอี๋ยนและนำศีรษะของจูกัดเอี๋ยนไปมอบให้สุมาเจียว[7]

การรับราชการกับราชวงศ์จิ้น

[แก้]

ในปี ค.ศ. 271 หลิว เมิ่ง (劉猛) แม่ทัพผู้กล้าหน่วยเผ่าซฺยงหนู (匈奴中部帥 สฺยงหนูจงปู้ชฺว่าย) ก่อกบฏ ราชสำนักมีคำสั่งให้ลู่ ฟาน (路蕃) ผู้เป็นขุนพลทหารม้ากล้า (驍騎將軍 เซียวฉีเจียงจฺวิน) ยกพลไปปราบปราม โดยตั้งให้เฮาหุนเป็นผู้ควบคุมทัพ (監軍 เจียนจฺวิน) และมอบอาญาสิทธิ์ให้ เฮาหุนจัดทัพใหญ่ที่เคิงเป่ย์ (硜北) เพื่อสนับสนุนลู่ ฟาน เฮาหุนเอาชนะหลิว เมิ่งและตีทัพชนเผ่าซฺยงหนูแตกพ่าย หลี่ เค่อ (李恪) ขุนพลใต้บังคับบัญชาของหลิว เมิ่งตัดศีรษะหลิว เมิ่งและยอมจำนน[8]

จากความดีความชอบในการศึกหลายครั้ง เฮาหุนได้เลื่อนยศเป็นขุนพลโจมตีภาคใต้ (征南將軍 เจิงหนานเจียงจฺวิน) ได้รับอาญาสิทธิ์ และรับผิดชอบดูแลราชการทหารทั้งหมดในมณฑลเกงจิ๋ว ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้พิทักษ์ทัพ (護軍 ฮู่จฺวิน) และนายทหารม้ามหาดเล็ก (散騎常侍 ซ่านฉีฉางชื่อ)[9] ครอบครัวของเฮาหุนได้เป็นขุนพลมาหลายรุ่น ในปีต่อ ๆ มา เฮาหุนมีความกระตือรือร้นที่จะศึกษาตำรา แล้วจึงเชี่ยวชาญการเขียนเอกสารราชการ เฮาหุนประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงในทุก ๆ ที่ที่ไป ในช่วงที่เฮาหุนประจำการป้องกันชายแดนก็ได้รับเกียรติเป็นพิเศษ[10]

ในปี ค.ศ. 273 สุมาเอี๋ยนจักรพรรดิผู้ก่อตั้งราชวงศ์จิ้นตะวันตกทรงละเลยงานราชการและหมกมุ่นกับสาวงาม พระองค์ทรงเลือกบุตรสาวของเหล่าขุนนางเข้าวังหกหลัง หู ฟาง (胡芳) บุตรสาวของเฮาหุนก็ได้รับเลือกให้สนมระดับกุ้ยเหริน (貴人) เฮาหุนมีบุตรชายคนเดียวซึ่งไปเป็นข้ารับใช้ของซือหม่า หมัว (司马模) ผู้เป็นอ๋องแห่งลำหยง (南陽王 หนานหยางหวาง) บุตรชายคนนี้เสียชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อย ต่อมาเมื่อเฮาหุนได้ยินว่าบุตรสาวได้รับเลือกให้เป็นกุ้ยเหริน เฮาหุนก็หลั่งน้ำตาพูดว่า "ข้ารับใช้เฒ่าไม่ตาย มีบุตรเพียง 2 คน บุตรชายอยู่ใต้แผ่นดินทั้งเก้า บุตรสาวอยู่เหนือสวรรค์ทั้งเก้า"[11]

เฮาหุนเป็นเสนาบดีเก่าแก่ และยังได้รับการช่วยเหลือจากวังจักรพรรดินี จึงได้รับความนับถืออย่างมาก เฮาหุนได้รับการแต่งตั้งเป็นรองราชเลขาธิการฝ่ายขวา[a] (尚書右僕射 ช่างชูโย่วผูเช่อ) และมหาขุนพลพิทักษ์ทัพ (鎮軍大將軍 เจิ้นจฺวินต้าเจียงจฺวิน) ได้รับการตั้งให้เป็นไคฝู่อี๋ถงซานซือ (開府儀同三司; "ผู้ได้รับอำนาจเปิดสำนักว่าราชกานเทียบเท่าสามมหาเสนาบดี") และได้รับบรรดาศักดิ์หยางเซี่ยเซี่ยนโหว (陽夏縣侯)[12][13]

ในเวลานั้น หยาง จฺวิ้น (楊駿) บิดาของจักรพรรดินีหยาง จื่อ (楊芷) พระมเหสีของสุมาเอี๋ยน มีความทรนงที่ตนเป็นบิดาของจักรพรรดินี เฮาหุนกล่าวกับหยาง จฺวิ้นว่า "ท่านจะหยิ่งผยองมากกว่านี้เมื่อพึ่งพิงบุตรสาวหรือ ย้อนมองไปราชวงศ์ก่อน ไม่มีใครที่สมรสกับราชวงศ์แล้วไม่ทำลายครอบครัวตัวเอง ไม่ช้าก็เร็วเรื่องนี้ต้องเกิดขึ้น ดูการกระทำของท่านสิ นั่นจะนำหายนะมาให้อย่างรวดเร็ว" หยาง จฺวิ้นถามกลับว่า "แล้วบุตรสาวท่านไม่ได้แต่งเข้าราชวงศ์หรอกหรือ" เฮาหุนตอบว่า "บุตรสาวของข้าเป็นข้ารับใช้ของบุตรสาวท่าน จะมีได้มีเสียได้อย่างไร" ทุกคนในเวลานั้นยำเกรงเฮาหุน หยาง จฺวิ้นแม้จะไม่ชอบคำพูดของเฮาหุนแต่ก็ไม่สามารถทำอันตรายกับเฮาหุนได้[14]

เสียชีวิต

[แก้]

เฮาหุนเสียชีวิตในปี ค.ศ. 288 หลังเสียชีวิตได้รับการแต่งตั้งย้อนหลังเป็นขุนพลทหารม้าและรถรบ (車騎將軍 เชอฉีเจียงจฺวิน) และได้รับสมัญญานามว่า "จฺว้าง" (壯)[15]

ดูเพิ่ม

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. ตามที่ระบุในบทพระราชประวัติของสุมาเอี๋ยนในจิ้นชู ส่วนบทชีวประวัติเฮาหุนระบุว่าเฮาหุนได้รับการแต่งตั้งเป็นรองราชเลขาธิการฝ่ายซ้าย (左僕射 จั่วผูเช่อ)

อ้างอิง

[แก้]
  1. ("ฝ่ายจูกัดเอี๋ยนรู้ว่าทหารวุยก๊กเข้าเมืองได้แล้ว ก็คุมทหารสมัคพรรคพวกประมาณสามร้อยหนีออกจากเมือง ข้ามสะพานหกไปพบเฮาหุนนายทหารสุมาเจียว เฮาหุนฟันด้วยง้าวถูกจูกัดเอี๋ยนพลัดตกม้าตาย แล้วให้ทหารล้อมจับทหารจูกัดเอี๋ยนได้ทั้งสามร้อย") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๒". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ August 23, 2024.
  2. ("พระเจ้าสุมาเอี๋ยนแจ้งในหนังสือดังนั้น ก็ตั้งให้เตาอี้เปนที่ไตโต๋ก๊กคุมทหารสิบหมื่น เปนแม่ทัพยกออกมาเมืองกังเหลงแลให้ตีเอาเมืองกังตั๋ง แล้วให้สุมาเตี้ยมเจ้าเมืองหลงเสียคุมทหารห้าหมื่นยกไปทางอิต๋ง ให้อองหุยคุมทหารห้าหมื่นยกไปทางอัวกั๋ง ให้อ๋องหยงคุมทหารห้าหมื่นยกไปทางบูเฉียง ให้ห่อหุนถือพลทหารห้าหมื่นยกไปทางแฮเค้ากำหนดให้อยู่ในบังคับบัญชาเตาอี้สิ้นทุกหมวดทุกกอง") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๗". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ August 23, 2024.
  3. (胡奮,字玄威,安定臨涇人也,魏車騎將軍陰密侯遵之子也。) จิ้นชู เล่มที่ 57.
  4. (奮性開朗,有籌略,少好武事。) จิ้นชู เล่มที่ 57.
  5. (宣帝之伐遼東也,以白衣侍從左右,甚見接待。) จิ้นชู เล่มที่ 57.
  6. (還為校尉,稍遷徐州刺史,封夏陽子。) จิ้นชู เล่มที่ 57.
  7. (大將軍乃自臨圍,四靣進兵,同時鼓譟登城,城內無敢動者。誕窘急,單乘馬,將其麾下突小城門出。大將軍司馬胡奮部兵逆擊,斬誕,傳首,夷三族。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
  8. (匈奴中部帥劉猛叛,使驍騎路蕃討之,以奮為監軍、假節,頓軍硜北,為蕃後繼。擊猛,破之,猛帳下將李恪斬猛而降。) จิ้นชู เล่มที่ 57.
  9. (以功累遷征南將軍、假節、都督荊州諸軍事,遷護軍,加散騎常侍。) จิ้นชู เล่มที่ 57.
  10. (奮家世將門,晚乃好學,有刀筆之用,所在有聲績,居邊特有威惠。) จิ้นชู เล่มที่ 57.
  11. (泰始末,武帝怠政事而耽於色,大采擇公卿女以充六宮,奮女選入為貴人。奮唯有一子,為南陽王友,早亡。及聞女為貴人,哭曰:「老奴不死,唯有二兒,男入九地之下,女上九天之上。」) จิ้นชู เล่มที่ 57.
  12. [(太康九年)二月,尚書右僕射、陽夏侯胡奮卒] จิ้นชู เล่มที่ 3.
  13. (奮既舊臣,兼有椒房之助,甚見寵待。遷左僕射,加鎮軍大將軍、開府儀同三司。) จิ้นชู เล่มที่ 57.
  14. (時楊駿以後父驕傲自得,奮謂駿曰:「卿恃女更益豪邪?曆觀前代,與天家婚,未有不滅門者,但早晚事耳。觀卿舉措,適所以速禍。」駿曰:「卿女不在天家乎?」奮曰:「我女與卿女作婢耳,何能損益!」時人皆為之懼,駿雖銜之,而不能害。) จิ้นชู เล่มที่ 57.
  15. (後卒于官,贈車騎將軍,諡曰壯。) จิ้นชู เล่มที่ 57.

บรรณานุกรม

[แก้]